ไฮไลท์ PRISM Expert กลุ่มปตท. วิเคราะห์ปี 64 เศรษฐกิจโลกพลิกฟื้น ไทยโตแบบค่อยเป็นค่อยไป

1177
- Advertisment-

ไฮไลท์ สัมมนา 2020 The Annual Petroleum Outlook Forum ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันกลุ่ม ปตท.(PRISM Expert ) มั่นใจปี 2564 เศรษฐกิจโลกพลิกฟื้น หลังผ่านจุดความต้องการใช้น้ำมันต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ไปแล้วเมื่อเดือน เม.ย.2563 ที่ผ่านมา โดยโลกจะปรับตัวสู่จุดสมดุลใหม่ใน 3  ปัจจัย คือ 1.การปรับตัวของรัฐบาลแต่ละประเทศ ซึ่งจะอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมาก 2.ภาคอุตสาหกรรมและประชาชน ปรับตัวสู่การใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และ 3.การคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในขณะที่เศรษฐกิจไทยจะยังอยู่รอดได้ โดยเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมแนะรัฐยังไม่ควรถอนการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในงานสัมมนา 2020 The Annual Petroleum Outlook Forum ซึ่งจัดเป็นปีที่ 9 ในหัวข้อ The Great Reset เมื่อโรคปฏิวัติโลก… เจาะลึกจุดเปลี่ยนโลกพลังงาน เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2563 มีไฮไลท์ที่น่าสนใจคือ ทีม PRISM Expert ได้สรุปคาดการณ์ราคาน้ำมันโลกในปี 2564 ไว้ 2 กรณี คือ ราคาน้ำมันดิบโลกจะอยู่ระดับ 45-55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ในกรณีความต้องการใช้น้ำมันของโลกเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ 5.2% หรือหากเศรษฐกิจโลกเติบโตได้เพียง 1.3% ราคาน้ำมันโลกจะอยู่ระดับ 35-45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และมองว่าในปี 2564 เศรษฐกิจโลกจะพื้นตัวอย่างแน่นอน จากประสบการณ์ที่โลกเคยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาหลายครั้งแต่ก็ยังฟันฝ่าอุปสรรคได้เสมอ

เมธา  วีระโอฬารกุล พนักงานการค้าระหว่างประเทศ ฝ่ายการค้าอนุพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

นายเมธา  วีระโอฬารกุล พนักงานการค้าระหว่างประเทศ ฝ่ายการค้าอนุพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2564 เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นจากการอัดฉีดเงินของหลายประเทศเข้าสู่ระบบจำนวนมหาศาล โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ 5.2% และจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 5.3% แต่หากเศรษฐกิจโลกเติบโตได้เพียง 1.3% ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มเพียง 3.4%

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม มองว่าโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดของการลดใช้น้ำมันไปแล้ว โดยเดือน เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา ความต้องการใช้น้ำมันลดลงถึง 20% ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของโลก เมื่อเทียบกับวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อช่วงปี 2550-2551 ที่ความต้องการใช้น้ำมันโลกลดลงแค่ 2% และทั่วโลกได้ปรับตัวจากวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะประเทศจีนที่คาดว่าปี 2564 จะเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจเป็นบวกได้ถึง 8.2% ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันโลกจะเพิ่มเป็น 6.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ยังไม่มากพอเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ความต้องการใช้น้ำมันโลกลดไปถึง 8.6% แต่เห็นว่าโลกเข้าสู่จุดวิกฤติต่ำสุดแล้ว และเมื่อมีวิกฤติทุกประเทศจะปรองดองทำให้ฝ่ามรสุมวิฤติครั้งนี้ไปได้

คณิน บดีพัฒน์ นักวางแผนกลยุทธ์ ฝ่ายแผนกลยุทธ์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

นายคณิน บดีพัฒน์ นักวางแผนกลยุทธ์ ฝ่ายแผนกลยุทธ์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2564 นี้ ตลาดน้ำมันมีโอกาสเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจโลกโดยความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นอีก 5.3% ส่วนการผลิตจะเติบโต 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้มีความต้องการใช้เพิ่ม 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาอยู่ที่ระดับ 45-55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

แต่หากกรณีเศรษฐกิจโลกเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยถ้าเศรษฐกิจโลกโตเพียง 1.3% จะทำให้การผลิตน้ำมันมีมากกว่าความต้องการใช้ถึง 4.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน กดดันให้ราคาน้ำมันโลกเหลือเพียง 35-45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ภานุพงศ์ ปั้นลี้ นักวิเคราะห์การพาณิชย์ ฝ่ายการวางแผนพาณิชย์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

นายภานุพงศ์ ปั้นลี้ นักวิเคราะห์การพาณิชย์ ฝ่ายการวางแผนพาณิชย์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกหดตัวมากที่สุดในรอบ 100 ปี แต่หลังจากผ่านวิกฤติโควิด-19 โลกจะปรับตัวสู่จุดสมดุลใหม่โดย 3  ปัจจัย คือ 1.การปรับตัวของรัฐบาลแต่ละประเทศ ซึ่งจะอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมาก 2.ภาคอุตสาหกรรมและประชาชน ปรับตัวสู่การใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เช่น การซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งปี 2563 มียอดขายเติบโตถึง 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 2564 จะมีการพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นอีก รวมถึงการหันมาซื้อขายสินค้าและเที่ยวในประเทศมากขึ้น เป็นต้น และ 3.การคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งหากดำเนินการได้ดีภายในปี 2565 เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวแบบ Nike-Shaped (เหมือนเครื่องหมายถูก) ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโต 3-4% แต่หากคุมโควิด-19 ได้ไม่ดีจะทำให้รูปแบบเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนมาเป็นแบบ L-Shaped (L) ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโตเพียง 1-2%

อัศวิน แผ่นเทอดไทย นักวิเคราะห์, Market Intelligence บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน)

นายอัศวิน แผ่นเทอดไทย นักวิเคราะห์, Market Intelligence บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ประชากรโลกเสียชีวิตแล้ว 1.4 ล้านคน ส่วนปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ก็ส่งผลให้คนตายเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนคน ดังนั้นปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งที่ทั่วโลกจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาด้วย ทั้งนี้เห็นว่านโยบาย Work from home เป็นนโยบายที่ดี นอกจากจะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีแล้วยังช่วยลดปัญหามลภาวะจากการเดินทางลง รวมทั้งรัฐควรสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ระหว่างผู้ผลิตสินค้าและผู้บริโภค ให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่ เพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งจะช่วยลดการดึงทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้มากเกินไปและช่วยลดปัญหาขยะลงได้

ทั้งนี้ภาคเอกชนและประชาชนต้องร่วมมือกันปฏิบัติด้วยจึงจะสำเร็จ เพื่อให้สิ่งแวดล้อมกลับสู่ภาวะสมดุลและอยู่คู่โลกอย่างยั่งยืน

เดชาธร นวกานนท์ เจ้าหน้าที่บริหารการตลาด ฝ่ายตลาดธุรกิจปิโตรเคมี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

นายเดชาธร นวกานนท์ เจ้าหน้าที่บริหารการตลาด ฝ่ายตลาดธุรกิจปิโตรเคมี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆขึ้น เกิดแพลตฟอร์มการซื้อขายสินค้า การค้าโลกกลายเป็นตลาดผืนเดียวกัน โดยคาดว่าในปี 2568 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า การซื้อขายผ่านระบบออนไลน์จะเพิ่มขึ้นถึง 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปี 2563 ที่มียอดขาย 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้จะมีการนำระบบหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้นทั้งในภาคเกษตร อาหาร บริการ การดูแลผู้สูงอายุ และการสำรวจ เป็นต้น  ซึ่งเป็นการปฏิบัติเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ทำให้ชีวิตหลังวิกฤติโควิด-19 เปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีและชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีโอกาสเติบโตได้ 3.5-4.5% จากการคาดการณ์ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ( สศช. ) แต่ก็ต้องระวังเรื่องปัญหาการเมือง เงินบาทแข็งค่า การระบาดไวรัสโควิด-19 รอบ 2 และผลกระทบสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่รอดได้โดยเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป และที่สำคัญคือ รัฐยังไม่ควรถอนการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่และเศรษฐกิจฐานรากจะเริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ยังได้รับผลกระทบสูง และฟื้นตัวช้า ดังนั้นรัฐควรกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปจนกว่ากลุ่ม SME จะฟื้นตัวได้จึงจะถอนการลงทุน เพื่อให้ทุกภาคส่วนอยู่รอดต่อไป

Advertisment