ยอดใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา เกิดพีคไฟฟ้าของปี 2567 รอบที่ 7 ถึง 34,656 เมกะวัตต์ ช่วงกลางคืนวันที่ 6 เม.ย. 2567 ในระบบของ 3 การไฟฟ้า เหตุอากาศร้อนสะสม เฉียดทำลายสถิติพีคไฟฟ้าประเทศปี 2566 พลังงานระบุ ได้โซลาร์เซลล์ช่วยตัดพีคไฟฟ้ากลางวัน ส่งผลเกิดการเกลี่ยไฟฟ้าไปใช้กลางคืนตามระบบอัตราค่าไฟฟ้า TOU ชี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ใช้โรงไฟฟ้าให้เต็มประสิทธิภาพ อยู่ในเกณฑ์ที่ดีไม่จำเป็นต้องปรับโครงสร้าง TOU ใหม่
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า จากสถิติการใช้ไฟฟ้าของไทยแบบเรียลไทม์ในระบบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ. ) พบว่าในช่วงวันหยุดยาว 3 วันที่ผ่านมา (วันที่ 6-8 เม.ย. 2567) สภาพอากาศร้อนสะสมต่อเนื่องทั่วประเทศ ส่งผลให้ยอดการใช้ไฟฟ้าในช่วง 3 วันดังกล่าวพุ่งเกิน 34,000 เมกะวัตต์โดยตลอด แต่ช่วงที่เกิดสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของปี 2567 นี้ ไปเกิดในวันที่ 6 เม.ย. 2567 มียอดใช้ไฟฟ้ารวม 34,656 เมกะวัตต์ ช่วงกลางคืนเวลา 20.54 น. ซึ่งพีคไฟฟ้าของปี 2567 นี้ นับว่าเข้าใกล้ยอดพีคไฟฟ้าของประเทศที่เคยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อปี 2566 ที่ 34,827 เมกะวัตต์
ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าหากสภาพอากาศยังคงร้อนสะสมต่อเนื่องไปอีก พีคไฟฟ้าของปี 2567 อาจทำลายสถิติของพีคไฟฟ้าประเทศที่เกิดปี 2566 ได้ ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดการณ์ว่าพีคไฟฟ้าปี 2567 จะพุ่งสูงสุดเกิน 35,000 เมกะวัตต์ได้ อย่างไรก็ตามกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าในวันที่ 9-11 เม.ย. 2567 นี้จะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้นหลายพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยให้ยอดการใช้ไฟฟ้าปรับลดลง
สำหรับระบบสถิติการใช้ไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ของ สำนักงาน กกพ. เป็นการรวบรวมยอดการใช้ไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. , การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) ซึ่งเกิดขึ้นในแต่ละวัน ขณะที่สถิติการใช้ไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ในระบบของ กฟผ. จะเป็นยอดการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวันของ กฟผ. เท่านั้น
ทั้งนี้พีคไฟฟ้าปี 2567 ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมา 7 รอบแล้ว โดยเกิดขึ้นในเดือน เม.ย. 2567 มากที่สุดดังนี้
ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 19.24 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 30,989.3 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 เวลา 19.47 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 32,704 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 33,340 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 เวลา 20.51 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 33,827.1 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,196.5 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 เวลา 22.22 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,277.4 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2567 เวลา 20.54 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,656.4 เมกะวัตต์
ขณะที่เมื่อย้อนดูสถิติยอดการใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนของไทย นับตั้งแต่เดือน ม.ค.- เม.ย. 2567 มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง เช่นกัน ดังนี้
เดือน ม.ค. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 11 ม.ค. 2567 เวลา 18.52 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 29,051.3 เมกะวัตต์
เดือน ก.พ. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 19.29 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 30,989.3 เมกะวัตต์
เดือน มี.ค. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 7 มี.ค. 2567 เวลา 19.47 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 32,704 เมกะวัตต์
เดือน เม.ย. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 6 เม.ย. 2567 เวลา 21.54 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,656.4 เมกะวัตต์
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรณีที่บางหน่วยงานแสดงความเห็นว่าควรปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU ใหม่ ( Time of use tariff) หรือ “อัตราค่าไฟฟ้าที่คิดตามช่วงเวลาการใช้งาน” เนื่องจากพีคไฟฟ้าส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงกลางคืน และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะหันมาใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนด้วย จึงทำให้ยอดการใช้ไฟฟ้าเกิดพีคกลางคืนเป็นส่วนใหญ่นั้น ที่ผ่านมาทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ กฟผ. เคยหารือร่วมกันและได้ข้อสรุปว่า ยังไม่ควรปรับเปลี่ยนค่า TOU
เนื่องจากการตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าโดยภาพรวม ยังถือว่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานดีอยู่แล้ว ซึ่งหากปรับเปลี่ยนอัตราค่า TOU หรือ เปลี่ยนช่วงเวลาให้พีคไฟฟ้าไปเกิดในตอนกลางวัน ก็จะทำให้เกิดความปั่นป่วนกับผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งระบบ เช่น ปรับพีคไฟฟ้าไปเกิดช่วงกลางวันแทน โรงงานอุตสาหกรรมก็จะต้องเปลี่ยนช่วงเวลาการผลิตสินค้าไปช่วงกลางวันเช่นกันและแรงงานก็ต้องเปลี่ยนเวลาทำงานกันใหม่หมดด้วย
ที่ผ่านมามีการกำหนดค่า TOU เนื่องจากต้องการเกลี่ยการใช้ไฟฟ้าให้ได้ทั้งวัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดพีคไฟฟ้ากลางวันตลอด และทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้ามาเพื่อรองรับพีคในช่วง 2-3 เดือนเท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มค่าและจากนั้นโรงไฟฟ้าที่สร้างมาจะใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะยอดการใช้ไฟฟ้าจะลดลงตามฤดูกาล ดังนั้นจึงกำหนดค่า TOU เพื่อให้ประชาชนหันไปใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนบ้าง ซึ่งก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์และโรงไฟฟ้าก็ได้ผลิตไฟฟ้าเต็มประสิทธิภาพ และอยู่ในเกณฑ์ประสิทธิภาพที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานด้วย
ดังนั้นการเกิดพีคไฟฟ้าช่วงกลางคืนนี้ ในความเป็นจริงถ้าไม่มีการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จากแสงอาทิตย์ที่มีมากกว่า 3,000 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้เกิดพีคไฟฟ้าช่วงกลางวันอยู่ดี ดังนั้นขณะนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าการใช้ไฟฟ้าโดยรวมของไทยเพิ่มขึ้น การที่ไม่เกิดพีคไฟฟ้าตอนกลางวันเพราะมีโซลาร์เซลล์มาช่วยตัดพีคช่วงกลางวัน จึงเห็นการเกิดพีคช่วงกลางคืนแทนนั้นเอง
สำหรับ TOU จะแบ่งช่วงเวลาและอัตราคิดค่าไฟฟ้าดังนี้ 1. แรงดันไฟฟ้า 12-24 กิโลโวลต์ ช่วง On Peak (09.00 – 22.00 น. วันจันทร์-วันศุกร์) อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 5.1135 บาทต่อหน่วย ช่วง Off Peak (22.00 – 09.00 น. วันจันทร์ – วันศุกร์ และ 00.00 – 24.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุด) อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.6037 บาทต่อหน่วย แต่ค่าบริการจะสูงถึง 312.24 บาทต่อเดือน
2. แรงดันไฟฟ้าต่ำกว่า 12 กิโลโวลต์ ช่วง On Peak (09.00 – 22.00 น. วันจันทร์-วันศุกร์) อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 5.7982 บาทต่อหน่วย ช่วง Off Peak (22.00 – 09.00 น. วันจันทร์ – วันศุกร์ และ 00.00 – 24.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุด) อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.6369 บาทต่อหน่วย แต่ค่าบริการจะต่ำกว่าอยู่ที่ 24.62 บาทต่อเดือน