ไทยพร้อมหรือไม่กับการใช้ระบบ Net Metering คำนวณค่าไฟฟ้า?

317
- Advertisment-

การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อผลิตไฟฟ้า หรือ โซลาร์รูฟท็อป มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ส่งเสริมให้บ้านที่อยู่อาศัยเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน โดยสามารถที่จะขายไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์เข้าระบบด้วยราคาที่จูงใจมากขึ้น ทำให้มีผู้สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาครัฐให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย คือ การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมกันบริหารจัดการรับซื้อไฟฟ้าในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 จำนวนไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ โดยใช้ระบบที่เรียกว่า “Net Billing” ที่ต้องมีการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่เป็นมิเตอร์แบบดิจิทัล เพื่อให้มิเตอร์สามารถวัดปริมาณไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้าและไฟฟ้าที่ไหลเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแต่ละเวลา และนำมาคำนวณค่าไฟฟ้าสุทธิได้ โดยระบบจะคำนวณค่าไฟฟ้าแบบคิดแยกระหว่างค่าซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเข้าสู่บ้าน กับค่าขายไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ให้การไฟฟ้า และนำเงินค่าไฟฟ้าทั้งสองมาหักลบกัน ในรูปแบบ “หน่วยเงิน” ซึ่งราคารับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตเกินมานั้น จะขึ้นอยู่กับการกำหนดนโยบายของภาครัฐ

ปัจจุบันภาครัฐกำหนดค่าไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปที่ขายคืนเข้าระบบโครงข่ายต่ำกว่าอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกของการไฟฟ้าภายใต้ระบบ Net Billing คือ อัตรารับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบอยู่ที่ 2.20 บาท/หน่วย ขณะที่ราคาไฟฟ้าขายปลีกเฉลี่ยงวดปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย โดยที่ราคาจำหน่ายดังกล่าว สะท้อนต้นทุนการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบ ได้แก่ต้นทุนระบบส่งไฟฟ้า ต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้าหลักเพื่อรักษาระบบให้มีความมั่นคง และต้นทุนทางการเงินอื่นๆ

อย่างไรก็ตามมีกระแสเรียกร้องให้รัฐปรับเปลี่ยนวิธีการรับซื้อไฟฟ้าจากระบบ Net Billing มาเป็นระบบ “Net Metering” ซึ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปจากประชาชนแบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า เพื่อจูงใจประชาชนให้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากยิ่งขึ้นไปอีก จึงเป็นประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วหรือยังที่จะใช้ระบบ Net Metering ดังกล่าว?

- Advertisment -

Net Metering คือการคำนวณค่าไฟฟ้าแบบหักลบหน่วยไฟฟ้า ในรูปแบบของ “หน่วยไฟฟ้า” ระหว่างหน่วยไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้ากับหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจากโซลาร์เซลล์ โดยนำจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ ลบออกจากจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้เองทันที และมูลค่าของหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้มีค่าเทียบเท่ากับราคาไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้า โดยระบบ Net Metering อาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าเดิมที่เป็นจานหมุนเป็นระบบดิจิทัลก็ได้ แต่ขออนุญาตให้การไฟฟ้าปลดล็อกมิเตอร์แบบจานหมุนให้สามารถหมุนได้ 2 ทิศทาง

กลุ่มที่สนับสนุนให้นำระบบ Net Metering มาใช้ ตั้งคำถามว่า ในเมื่อไฟฟ้าผลิตได้จากแสงแดดที่มาจากธรรมชาติ ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงที่ต้องเสียเงินตราต่างประเทศนำเข้ามาด้วยราคาแพง เหตุใดรัฐจึงไม่ส่งเสริมให้มีการผลิตมากๆ จะได้เป็นการช่วยประเทศลดการนำเข้าพลังงาน โดยเชื่อว่าหากใช้ระบบ Net Metering ที่ให้มูลค่าของหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์รูฟท็อปมีราคาเทียบเท่ากับราคาไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้า จะจูงใจให้คนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานสะอาดของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายในแผนพลังงานชาติด้วย

ในขณะที่คำอธิบายของหน่วยงานการไฟฟ้าระบุว่าระบบ Net Metering ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ตามที่ได้มีการศึกษาและได้รายงานผลการศึกษาให้ภาครัฐรับทราบแล้ว โดยมีทั้งเรื่องที่ยังไม่มีระเบียบและข้อกฎหมายรองรับและปัญหาด้านเทคนิค โดยเฉพาะเป็นการสร้างภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากหากยิ่งรับซื้อไฟฟ้าคืนในราคาสูงเทียบเท่ากับอัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าขายให้ เท่ากับว่าส่วนต่างของราคา (4.18 บาท – 2.20 บาท) ราว 1.98 บาทต่อหน่วยนั้น จะต้องนำไปหารเฉลี่ยกับผู้ใช้ไฟฟ้าคนอื่นๆ ในระบบ ซึ่งจะเป็นการผลักภาระให้ผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่เป็นผู้มีรายได้น้อยไม่มีกำลังในการติดตั้งโซลาร์บนหลังคา รวมถึงบ้านที่ไม่สามารถติดตั้งได้ เนื่องจากการไฟฟ้าต้องรับซื้อคืนไฟฟ้าเข้าระบบในราคาแพงกว่าต้นทุนเฉลี่ยที่ผลิตได้ และยังมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการจัดหาพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักเพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นระบบสำรองให้พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้

อาจจะมีข้อสงสัยว่าทำไมจึงต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักเพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นระบบสำรองสำหรับรักษาความมั่นคงของระบบ ทางหน่วยงานการไฟฟ้าให้คำตอบว่า เพราะไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์นั้น ไม่ได้จ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะผลิตและจ่ายไฟฟ้าได้เฉพาะช่วงที่มีแสงแดดในตอนกลางวันเท่านั้น ส่วนตอนกลางคืนและวันที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝนหรือมีเมฆบดบังดวงอาทิตย์ ที่ทำให้แผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าไม่ได้หรือกำลังผลิตลดลงนั้น หน่วยงานการไฟฟ้าที่ดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้า จะต้องสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอื่นๆ มาทดแทนกำลังการผลิตจากโซลาร์เซลล์ที่หายไป ไม่ให้เกิดกรณีไฟตกหรือไฟดับ เพื่อให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเสียบปลั๊กหรือเปิดสวิทซ์ไฟตอนไหน ก็มีไฟฟ้าใช้ตลอดเวลา ซึ่งการดำเนินการเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบและดูแลให้ไฟฟ้ามีคุณภาพและมาตรฐานตามเกณฑ์สากลเช่นนี้ ล้วนมีต้นทุนที่ต้องจ่าย

อย่างไรก็ตาม ระบบ Net Metering มีการนำมาใช้ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2559 โดยให้ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในภาคครัวเรือนสามารถขายไฟฟ้าคืนเข้าสู่ระบบแบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า (เท่ากับราคาค่าไฟฟ้า) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับใช้เองในครัวเรือน ซึ่งหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตเกินจากที่ใช้จะได้รับเป็นเครดิตสำหรับจ่ายค่าไฟฟ้าในเดือนถัดไป ไม่ได้ให้ผลตอบแทนเป็นตัวเงิน เพราะไม่ต้องการให้เกิดการผลิตมากเกินไปเพื่อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ดังนั้น ภาครัฐก็ต้องยอมแบกภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นในการดูแลรักษาระบบไฟฟ้าและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งสุดท้าย ภาระดังกล่าว ผู้ที่เสียภาษีก็ต้องเป็นคนจ่าย

สำหรับประเทศไทย ภาครัฐจึงต้องพิจารณาเหรียญสองด้านของระบบ Net Metering อย่างรอบคอบ ว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะส่งเสริมให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มากเพียงใด ค่าไฟฟ้าจะมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งระบบหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ใช้ไฟส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่ต้องรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นจากการซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากโครงการโซลาร์รูฟท็อป และหากนำมาใช้ในรูปแบบเดียวกับของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประชาชนพร้อมที่จะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องขบคิดให้รอบด้านเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

Advertisment