ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งพายุ น้ำท่วม น้ำแล้ง การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคพลังงาน เป็นหนึ่งในแนวทางหลักที่หลายประเทศให้ความสำคัญและเร่งเดินหน้าเพื่อสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ซึ่งเป็นวาระสำคัญของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา
สำหรับประเทศไทย ก็มีนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดโดยเฉพาะในภาคการผลิตไฟฟ้าและขนส่ง โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ หรือ โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ ก็ถือเป็นนวัตกรรมที่หลายประเทศทั้งในยุโรปและภูมิภาคเอเชียนำมาใช้เพื่อตอบโจทย์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด แต่สำหรับโซลาร์เซลล์ลอยน้ำของประเทศไทยยังมีความพิเศษมากขึ้น เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ได้พัฒนาต่อยอดสู่ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ กับพลังนํ้าจากเขื่อนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด จำนวน 16 โครงการทั่วประเทศ กำลังการผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) เพื่อให้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยนำร่องที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแห่งแรก มีกำลังผลิตติดตั้ง 45 เมกะวัตต์ และยังนับเป็นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งใช้แผงโซลาร์เซลล์มากถึง 144,420 แผ่น ติดตั้งอยู่บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 450 ไร่ หรือเทียบเท่าสนามฟุตบอลประมาณ 70 สนาม โดยได้เริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ไปแล้ว เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา
โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดของ กฟผ. เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ราคาไม่แพง
โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าแห่งอนาคต ที่จะเข้ามาแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม เป็นการผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริดระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำที่มีอยู่เดิม ควบคุมด้วยระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System : EMS) ร่วมกับการพยากรณ์อากาศ (Weather Forecast System) เพื่อลดข้อจำกัดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ปกติแล้วจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ โดยนำพลังงานแสงอาทิตย์มาช่วยเสริมความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในช่วงเช้าหรือช่วงบ่ายแทนพลังน้ำ และนำมวลน้ำมาเสริมความต้องการสูงสุดในช่วงค่ำ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้มากขึ้นและยาวนานขึ้น
อย่างไรก็ตาม การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนผิวน้ำในเขื่อนของ กฟผ. โดยเฉพาะในพื้นที่เขื่อนสิรินธร คิดเป็นพื้นที่ไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำ จึงไม่กระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตร อีกทั้งยังมีค่าไฟฟ้าในอัตราที่ต่ำ เนื่องจากเป็นการพัฒนาโครงการที่มีขนาดใหญ่ (Economy of Scale) บนพื้นที่ผิวน้ำของเขื่อน กฟผ. ที่สามารถลดต้นทุนค่าที่ดินได้ และใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ให้เต็มประสิทธิภาพ เช่น หม้อแปลง สายส่ง เป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องลงได้ส่งผลให้ได้ราคาที่ถูกและสามารถแข่งขันได้ อีกทั้งกระบวนการผลิตยังไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย
โดยโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ. ใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิด Double Glass ที่มีความแข็งแรงทนทานสูง และทนความชื้นได้ดี สามารถออกแบบวางชิดผิวน้ำซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ถึงร้อยละ 10 – 15 ใช้ทุ่นลอยน้ำเป็นทุ่นพลาสติก ชนิด High Density Poly Ethylene (HDPE) ผสม UV Protection ซึ่งเป็นวัสดุประเภทเดียวกับท่อส่งน้ำประปาจึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีอายุการใช้งานนานกว่า 25 ปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ประมาณ 47,000 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่าประมาณ 37,600 ไร่ อีกทั้งการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ปกคลุมผิวน้ำยังช่วยลดการระเหยของน้ำได้ประมาณ 460,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี และช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศได้ถึง 730.62 พันล้านบีทียูต่อปี
กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก จุดพลุท่องเที่ยวภาคอีสาน
หนึ่งในความท้าทายของการพัฒนาโครงการนี้ คือการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของชุมชน ตั้งแต่การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น การจ้างงานในพื้นที่ระหว่างก่อสร้างมีคนในอำเภอสิรินธรและอำเภอใกล้เคียงเข้ามาทำงานถึงร้อยละ 80 การจ้างเจ็ตสกีของชุมชนที่ปกติจะใช้รับส่งนักท่องเที่ยวมาช่วยลากแผงโซลาร์เซลล์ไปติดตั้งในอ่างเก็บน้ำ การจ้างเรือหางยาวไว้รับ-ส่งคนงาน และการจ้างแพท่องเที่ยวแบบมีหลังคาใช้เป็นที่พักคนงานกลางน้ำ ช่วยให้ชุมชนมีรายได้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 กว่า 30 ล้านบาท รวมถึงสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชุมชนที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
และอีกหนึ่งภารกิจสำคัญคือการส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน กฟผ. จึงพัฒนาเส้นทางเดินชม ธรรมชาติ (Nature Walkway) ที่สามารถชมโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากมุมสูงบนทางเดินชมธรรมชาติได้อย่างชัดเจน และร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานีปลุกปั้นที่นี่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ของภาคอีสาน ควบคู่กับการส่งเสริมให้ชุมชนมาร่วมเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยว นำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาวางขาย รวมถึงให้บริการด้านอื่น ๆ กับนักท่องเที่ยว
เส้นทางเดินชมธรรมชาติได้รับการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกับรูปทรงของพระอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียนที่สามารถนำกลับมาใช้อย่างไม่มีวันหมด ส่วนลายเส้นที่มาบรรจบกันในลักษณะเป็นเกลียวนั้นหมายถึงการเดินทางจากหลากหลายทิศทางที่มาบรรจบกัน โดยมีไฮไลท์อยู่ที่บริเวณทางเดินริมน้ำซึ่งเหมาะแก่การชมวิวยามอาทิตย์อัสดง และยังสร้างความตื่นเต้นหวาดเสียวด้วยทางเดินกระจกที่สูงถึง 10 เมตร ส่วนบริเวณโดยรอบอยู่ระหว่างการปรับภูมิทัศน์เป็นสวนหย่อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศในช่วงต้นปี 2565 เป็นต้นไป ด้วยความมุ่งหวังสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวของภาคอีสานให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้กลับมาเฟื่องฟูอย่างยั่งยืน
ความสำเร็จของโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรจึงถือเป็นก้าวสำคัญของการเดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เชื่อถือได้ และแสดงถึงความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในการส่งเสริมพลังงานสะอาดของไทย โดยให้ความสำคัญกับชุมชนโดยรอบ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน โดย กฟผ. ได้เตรียมพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในพื้นที่เขื่อนของ กฟผ. ทั้ง 9 เขื่อนทั่วประเทศ รวม 16 โครงการอย่างต่อเนื่อง รวมกำลังผลิตทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ เพื่อเดินหน้าสู่สังคมไร้คาร์บอนอย่างแท้จริงในอนาคต เพื่อคนไทยทุกคน
–