- Advertisment-

การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยนั้น ย่อมนำมาซึ่งการพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นในบริบทด้านการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน ด้านเศรษฐกิจ ด้านนวัตกรรม หรือแม้กระทั่งในแง่ของวัฒนธรรมทางสังคมต่างๆ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) ในภาคพลังงานนั้นก็เช่นกัน มีกระแสหลักเน้นไปในเรื่องของการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ถ่านหิน หรือ ก๊าซธรรมชาติ เนื่องด้วยความจำเป็นทั้งทางด้านปริมาณและปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งกลไกการเปลี่ยนผ่านยังมุ่งเน้นไปถึงการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเข้ามาบูรณาการให้เกิดการบริหารจัดการและการใช้พลังงานเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งภายใต้กรอบดังกล่าว ย่อมส่งผลให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าในอนาคตจะมีความซับซ้อนทั้งทางด้านกลไกและการดำเนินการกว่าเดิมมาก นั่นยิ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ภาคพลังงานจะต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลในการควบคุม กำกับ และดูแลระบบ เพื่อให้เกิดการสอดรับกับปัจจัยต่างๆ ทั้งทางด้านเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือ และความเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า

ในปี 2564 แผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ในระยะสั้น พ.ศ. 2560-2564 (แผนการขับเคลื่อนฯ ในระยะสั้น) ได้สิ้นสุดลง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จึงได้จัดทำแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565-2574 (แผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง) มุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการจัดการทรัพยากรในระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่จำเป็น รองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้ายุคใหม่อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเตรียมความพร้อมต่างๆ และนำร่องการจัดการแหล่งพลังงานแบบกระจายศูนย์ (Distributed energy resources; DER) ในรูปแบบเชิงพาณิชย์ รองรับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่เริ่มส่งผลต่อการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า ตลอดจนเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทยเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

แผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง ฉบับนี้มีการกำหนดเป้าหมายสำคัญในระยะมากกว่า 10 ปี ซึ่งจะเป็นแผนขับเคลื่อนด้านสมาร์ทกริด ตามกรอบแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 โดยจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการจัดการทรัพยากรในระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่จำเป็น รองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้ายุคใหม่อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดและลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ที่ส่งผลให้ต้องมีการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่นรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนให้ได้ตามเป้าหมายแผนพลังงานชาติ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาสมดุลระบบไฟฟ้าประเทศ บริหารความต้องการช่วงไฟฟ้าพีคให้มีประสิทธิภาพโดยแบ่งออกเป็น 5 เสาหลัก และแผนอำนวยการสนับสนุน ประกอบด้วย

- Advertisment -

เสาหลักที่ 1 : การตอบสนองด้านโหลดและระบบบริหารจัดการพลังงาน (DR & EMS)

เสาหลักที่ 2 : การพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast) :

เสาหลักที่ 3 : ระบบไมโครกริดและโปรซูเมอร์ (Microgrid & Prosumer)

เสาหลักที่ 4 : ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS)

เสาหลักที่ 5 : การบูรณาการยานยนต์ไฟฟ้า (EV Integration)

สำหรับประโยชน์ของการจัดทำแผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง ในมิติของความสมดุลด้านพลังงาน (Energy Trilemma) มีความสอดคล้องกับหลักการเสริมสร้างความยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ของประเทศ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคง ด้านความมั่งคั่ง และด้านความยั่งยืน ดังนี้

ด้านความมั่นคง : เกิดความมั่นคงทางพลังงานจากการผลิตและใช้พลังงานภายในประเทศ และการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานแบบกระจายศูนย์ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับ ระบบไฟฟ้า

ด้านความมั่งคั่ง : ต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศลดลง การหลีกเลี่ยงการลงทุนที่ไม่จำเป็น ภาคผู้ใช้ไฟฟ้ามีโอกาสลดต้นทุนค่าไฟฟ้าของตนเองและเกิดการสร้างรายได้ รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งด้านการส่งออกและการลงทุนต่าง ๆ ในประเทศ

ด้านความยั่งยืน : สามารถรองรับพลังงานหมุนเวียนในปริมาณสูง และสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด

ดังนั้น การจัดทำแผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง จะมีความสำคัญและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาและลงทุนระบบไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานแบบกระจายศูนย์ (DERS) ประเภทต่างๆ ที่จะเติบโตตามแนวโน้มของโลกร่วมกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดและลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 ตามกรอบแผนพลังงานชาติได้อย่างแน่นอน

หมายเหตุ : ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

Advertisment