แปลงโรงไฟฟ้าชุมชน Quick Win 100 MW เป็นโรงไฟฟ้าขยายผล ตั้งเพดานค่าไฟไม่เกิน 2.44 บาทต่อหน่วย

2158
- Advertisment-

กระทรวงพลังงานเตรียมแปลงโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน Quick Win ปริมาณรับซื้อ 100 เมกะวัตต์เดิม ให้เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล โดยจะใช้วิธีประมูล กำหนดเพดานราคาไฟฟ้าที่รับซื้อไม่เกิน 2.44 บาทต่อหน่วย คาดออกประกาศหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าในปริมาณ 100 เมกะวัตต์ได้ ม.ค. 2564 ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ปรับหลักเกณฑ์ใหม่ จะเปิดรับซื้อ ม.ค.2564 เช่นเดียวกัน ในปริมาณไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ และหากไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่เกษตรกรและชุมชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด จะมีการพิจารณายกเลิกปริมาณรับซื้อที่เหลือ ( ตามแผนPDP2018 rev 1 ต้องรับซื้อเข้าระบบ 1,933 เมกกะวัตต์ )

กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ปรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ในระยะเร่งด่วน หรือ Quick Win 100 เมกะวัตต์เดิม ให้เป็น “โครงการโรงไฟฟ้าขยายผล” โดยกำหนดเป้าหมายให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าชีวภาพที่สร้างโรงไฟฟ้าเสร็จแล้วแต่ขายไฟฟ้าเข้าระบบไม่ได้ เนื่องจากติดปัญหาด้านสายส่งไฟฟ้าในอดีต แต่ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงสายส่งแล้ว หรือโรงไฟฟ้าที่ยังไม่มีสัญญารับซื้อไฟฟ้า(PPA) โดยกลุ่มนี้คาดว่ามีประมาณ 100 เมกะวัตต์

ทั้งนี้โควต้า 100 เมกะวัตต์ที่จะเปิดรับซื้อดังกล่าวจะนำโควต้ามาจาก “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560” ที่เลยกำหนดเวลาลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)ไปตั้งแต่ 13 ธ.ค.2562 มาใช้เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขยายผลดังกล่าวแทน โดยใช้วิธีเปิดให้ประมูลแข่งขันผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ เพื่อไม่ให้เกิดภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และจะใช้กรอบราคาที่ SPP Hybrid Firm เคยประมูลได้ราคาต่ำเพียง 2.44 บาทต่อหน่วย มาเป็นกรอบพิจารณากำหนดราคาประมูลสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล คาดว่าจะเปิดรับซื้อได้ต้นปี 2564

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -ENC ) รายงานว่า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm ที่ประมูลใน ปี 2560 ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 300 เมกะวัตต์ นั้น มีผู้ชนะประมูลทั้งหมด 17 ราย แต่ปัจจุบันมีเพียง 3 รายเท่านั้น ที่ได้ลงนามสัญญา PPA แล้ว ที่เหลืออีก 14 ราย ไม่สามารถที่จะลงนาม PPA ได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมีปริมาณไฟฟ้ารวมประมาณ 100 เมกะวัตต์

โดยถึงแม้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ.จะเปิดให้ผู้ประกอบการทั้ง 14 รายยื่นเสนอแผนสร้างโรงไฟฟ้าเมื่อปลายเดือน ต.ค.2563 เพื่อพิจารณาขยายสัญญา PPA แต่เมื่อพิจารณาแผนงานที่เสนอมาพบว่า ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าได้จริง จึงต้องโยกปริมาณไฟฟ้าดังกล่าวให้กับโครงการโรงไฟฟ้าขยายผลแทน

ทั้งนี้คาดว่า กกพ.จะสรุปผลว่าจะเหลือผู้ประกอบการกี่รายที่ได้ต่อสัญญา PPA และจะมีปริมาณไฟฟ้าที่แท้จริงเหลือให้โครงการโรงไฟฟ้าขยายผลกี่เมกะวัตต์ ซึ่ง กกพ.จะสรุปผลให้กระทรวงพลังงานทราบภายในเดือน พ.ย. 2563 นี้

โดยโรงไฟฟ้าขยายผล เป็นเรื่องของการลงทุนเฉพาะเอกชน ที่แยกออกมาจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนอย่างชัดเจน

กวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ด้านนายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ว่า ในส่วนของโครงการนำร่องจะมีขนาดโรงละ 3-6 เมกะวัตต์ปริมาณไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ และจะเปิดรับซื้อในเดือนมกราคม2564 เช่นเดียวกัน ในอัตรารับซื้อตามหลักเกณฑ์เดิม ( ก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน 100%) 5.3725 บาท ต่อหน่วย ) โดยต้องการให้โครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและเกษตรกรอย่างแท้จริง

ทั้งนี้จะมีการนำเสนอการปรับปรุงทบทวนหลักเกณฑ์ให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาในวันที่ 11 พ.ย นี้ ก่อนเสนอให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาต่อไป

วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผอ.สนพ.

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า จะมีการประเมินผลสำเร็จจากโครงการนำร่อง โดยหากไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ อาจจะพิจารณายกเลิกการดำเนินการในส่วนที่เหลือ ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่1 กำหนดปริมาณรับซื้อทั้งหมดภายในปี 2567 ถึง 1,933 เมกะวัตต์

Advertisment