คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผล (ค.ต.ป.) ประจำกระทรวงพลังงาน แนะ สนพ. ติดตามผลวิจัยผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจากแหล่งแร่เกลือหิน ที่ไทยมีปริมาณสำรองมหาศาล ว่ามีศักยภาพในการผลิตเชิงพาณิชย์หรือไม่ พร้อมหนุนส่วนราชการทั้งหมด ศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศติดตั้ง Solar rooftop เพื่อเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลตอบโจทย์ทิศทางเป้าหมาย“carbon neutrality” ของประเทศภายในปี 2050
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า เฟซบุ๊ก กองตรวจราชการ กระทรวงพลังงานได้นำเสนอการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผล (ค.ต.ป.) ประจำกระทรวงพลังงาน ที่มี นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ที่เข้าตรวจเยี่ยมและรับฟังรายงานผลการดำเนินงานในรอบ 2 ปี (พ.ศ. 2564 – 2565) ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา
โดยสรุปสาระสำคัญ ที่ทาง ค.ต.ป.ประจำกระทรวงพลังงาน มีข้อแนะนำให้ สนพ. ในฐานะที่เป็นองค์กรหลักในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของประเทศ พิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินการสำคัญ ดังนี้
1.การส่งเสริมการผลิตระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ ทาง ค.ต.ป.ขอให้ สนพ. ติดตามผลการศึกษาวิจัย การผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจากแหล่งแร่เกลือหิน ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่ามีศักยภาพในการผลิตเชิงพาณิชย์เพียงพอที่จะนำมาใช้แทนแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนหรือไม่ เนื่องจากประเทศไทยมีปริมาณสำรองแหล่งแร่เกลือหินในประเทศถึง 18 ล้านล้านตัน ซึ่งเป็นแหล่งแร่สำรองที่มีปริมาณมหาศาล
2.ขอให้ สนพ. พิจารณาศึกษาแนวทางในการกำหนดทิศทางและนโยบายราคาพลังงานของประเทศไทยให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม โดยการเปรียบเทียบราคาพลังงานของประเทศใกล้เคียงและวิเคราะห์เหตุผลที่ราคาพลังงานถูกกว่าประเทศไทย เพื่อให้สามารถชี้แจงภาคประชาชนได้อย่างชัดเจน รวมถึงเพื่อดึงดูดการตัดสินใจลงทุนจากต่างชาติ
3.หาแนวทางกำหนดนโยบายในการสนับสนุนเรื่องโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ (Floating Solar) ของ กฟผ. ให้ดำเนินการในทุกเขื่อนกักเก็บน้ำ ซึ่งจะสามารถเพิ่มสัดส่วน RE และลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงที่ปลดปล่อย CO2 ได้เป็นจำนวนมาก
4.การกำหนดให้ส่วนราชการทั้งหมด ทั้งศูนย์ราชการ ศาลากลางจังหวัด ติดตั้ง Solar rooftop เพื่อเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าให้กับหน่วยงานในช่วงเวลากลางวัน จะทำให้หน่วยงานราชการสามารถลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ที่ประเทศไทยก็ได้ประกาศเจตนารมย์ที่จะบรรลุเป้าหมาย “carbon neutrality” ภายในปี 2050 ในการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร
สำหรับ ค.ต.ป. ประจำกระทรวงพลังงาน ที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีคำสั่งแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 นั้นนอกจากจะมีนายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานแล้ว ยังมีอดีตผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานร่วมเป็นกรรมการหลายท่าน อาทิ นายอำนวย ทองสถิตย์ อดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ( พพ.) นายทรงภพ พลจันทร์ อดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) นางพูนทรัพย์ สกุณี อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน นายประภาส วิชากูล อดีตรองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) โดยมี นายเพทาย หมุดธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เป็นกรรมการและเลขานุการฯ
ทั้งนี้ ค.ต.ป ประจำกระทรวงพลังงาน จะมีอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งแต่งตั้ง ในเรื่องการกำกับดูแลระบบการตรวจสอบและประเมินผลของกระทรวงและหน่วยงานในสังกัดให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการกำหนด
การสอบทาน ติดตามและประเมินผลการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานราชการและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา การสอบทานรายงานผลการดำเนินงานและรายงานผลสถานะทางการเงินของกระทรวงและหน่วยงานในสังกัด
การรายงานผลการปฏิบัติงานให้รัฐมนตรีพลังงานรับทราบทุก 6 เดือน
การเรียกให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นใดมาชี้แจงหรือแสดงความคิดเห็นหรือเรียกเอกสารประกอบการพิจารณาและการปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มอบหมาย
โดย ในปีงบประมาณ 2566 ทาง ค.ต.ป.ประจำกระทรวงพลังงานได้เดินสาย ตรวจเยี่ยมหน่วยงาน ในกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน มาแล้วหลายหน่วยงาน ตั้งแต่ ช่วง เดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา อาทิ พพ. กรมธุรกิจพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ปตท. และล่าสุดคือ สนพ.