ดร. ทวีศักดิ์ บรรลือสินธุ์ กรรมการ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ได้เล่าให้ฟังถึงการดำเนินงานด้านพลังงานระดับโลกของเอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น ในความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาพลังงานและเทคโนโลยีที่จะลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอนาคต
ดร. ทวีศักดิ์ กล่าวว่า การวางแนวทางเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่สามารถลดคาร์บอนให้น้อยลงตามเป้าหมายในความตกลงปารีส (Paris Agreement) นั้น ต้องอาศัยความกล้า ทั้งในด้านแนวความคิดและการหาแนวทางในระดับมหภาค พร้อมทั้งประสานความร่วมมือของภาครัฐ สถาบันการศึกษา และธุรกิจ ด้วยกัน ซึ่งสำหรับเอ็กซอนโมบิลเองนั้น ได้ให้การสนับสนุนต่อความตกลงปารีสมาตั้งแต่แรกแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการนำเสนอวิธีการที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปริมาณมาก แก่หนึ่งในบริเวณที่มีอุตสาหกรรมอยู่อย่างหนาแน่นในสหรัฐอเมริกา

ข้อเสนอแนะอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์
ในช่วงสามปีที่ผ่านมา เอ็กซอนโมบิล ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี Carbon Capture and Storage (CCS) ที่จะนำไปใช้ในนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ที่มีลักษณะทางธรณีวิทยาที่ปลอดภัยที่สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้
–
CCS จะทำให้โลกสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์หลายร้อยล้านตันไว้ได้ด้วยความปลอดภัย แทนการถูกปล่อยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งนับเป็นเทคโนโลยีเพียงไม่กี่อย่างที่ได้มีการทดสอบและนำไปใช้แล้ว และมีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีนัยสำคัญจากอุตสาหกรรมในธุรกิจด้านต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมด้านการผลิต ด้านไฟฟ้า และอุตสาหกรรมหนักต่างๆ อย่างเห็นผล
พื้นที่ซึ่งมีแนวโน้มจะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ คือ ที่เมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส

เมื่อเร็วๆ นี้ หน่วยงานธุรกิจ Low Carbon Solutions ของเอ็กซอนโมบิล ได้นำเสนอแนวคิด “โซนนวัตกรรม CCS ตามเส้นทางท่าเดินเรือของฮุสตัน (Houston Ship Channel CCS Innovation Zone)” ซึ่งเป็นการริเริ่มความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการ เอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่นโยบายและการลงทุนด้าน CCS ให้ขยายขอบข่ายได้กว้างขวางขึ้น
โดยแนวคิดนี้ หากได้พัฒนาเต็มรูปแบบแล้ว จะมีศักยภาพที่สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นจำนวนมาก คาดว่าในปี 2040 จะสามารถกักเก็บได้ถึง 100 ล้านเมตริกตัน (100 million metric tons) ต่อปี ซึ่งจะเป็นตัวอย่างการเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีประสิทธิภาพและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกาได้เลย นอกจากจะช่วยปกป้องรักษาธรรมชาติแล้ว ยังจะสร้างงานได้อีกหลายพันตำแหน่ง พร้อมทั้งทำให้ความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศของอเมริกาเกิดผลได้เร็วขึ้น และก่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมตามความคาดหวังของประเทศที่จะลดปริมาณคาร์บอนให้ลดน้อยลง
ด้วยความร่วมมือกันของหลายๆ ภาคส่วนพร้อมกัน จะทำให้สามารถขนส่งคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บไว้ได้จากแหล่งอุตสาหกรรม ไปกักเก็บอย่างถาวรปลอดภัยในหลุมหรือแอ่งทางธรณีวิทยาที่อยู่ใต้พื้นธรณีของอ่าวเม็กซิโกได้อย่างดี ถ้าพิจารณาจากการคาดการณ์ของกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกานั้น พื้นที่ชายฝั่งทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาสามารถบรรจุหรือเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 500,000 ล้านเมตริกตัน (500 billion metric tons) เลยทีเดียว
สำหรับในเอเชียแปซิฟิคนั้น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนมากมาจากการผลิตกระแสไฟฟ้า อุตสาหกรรมการผลิต และการก่อสร้าง ซึ่งจากโครงการที่ทำในฮุสตัน สามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางด้าน CCS สำหรับภูมิภาคนี้ได้เช่นเดียวกัน
ทำไมถึงต้องเป็น CCS? ในขณะที่เทคโนโลยีบางอย่าง เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ยังคงมีบทบาทสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศนั้น เทคโนโลยี CCS ก็จะมีส่วนช่วยอย่างสำคัญ โดยเฉพาะจากการผลิตกระแสไฟฟ้าและอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นตัวการหลักของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในเอเชียแปซิฟิค นอกจากนี้ ในปี 2020 สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) ได้กล่าวไว้ด้วยว่า “การจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net-zero emission) จะเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่มีเทคโนโลยี CCS”

–
ผลการดำเนินงานด้าน CCS ของเอ็กซอนโมบิลนั้น ประกอบด้วยงานวิจัยมากมายหลากหลาย รวมถึงมีความร่วมมือกับศูนย์พลังงานอีก 5 แห่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
ในเอเชียแปซิฟิค เอ็กซอนโมบิลได้ทำงานร่วมกับองค์กรกลางด้านพลังงานของสิงคโปร์ (Singapore Energy Centre-SgEC) โดยได้ช่วยหาทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้สอดคล้องกับความท้าทายด้านพลังงาน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีการวิเคราะห์วิจัยต่างๆ ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีที่สามารถดักและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ โดย SgEC นี้ เป็นองค์กรพลังงานแห่งแรกๆนอกอเมริกา ที่เอ็กซอนโมบิลให้การสนับสนุนเพิ่มเติม และก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันหยางและมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
โดยรวมแล้ว กล่าวได้ว่า เอ็กซอนโมบิลมีประสบการณ์กว่า 30 ปีในด้านการกักเก็บคาร์บอน และมีส่วนในปริมาณการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ได้มากถึง 1 ใน 5 ของปริมาณที่กักเก็บไว้ได้ของทั้งโลก
ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ : เป้าหมายของความตกลงปารีสนั้น จะไม่สามารถบรรลุได้หากไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตกระแสไฟฟ้า อุตสาหกรรม และการขนส่งพาณิชย์ ซึ่งการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมหนักเมื่อรวมกันแล้ว มีการปล่อยก๊าซที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานถึง 70% ของการปล่อยก๊าซของทั้งโลก และ CCS เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเพียงไม่กี่อย่างที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซได้ในอุตสาหกรรมเหล่านั้น หากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหันมาใช้เทคโนโลยี CCS นี้ไปพร้อมๆกัน จะช่วยนำไปสู่การลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมหาศาล
บทบาทด้านนโยบาย : จำเป็นต้องมีการพิจารณานโยบายใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในด้าน CCS ให้สอดคล้องไปกับแนวทางและเป้าหมายของความตกลงปารีส รัฐบาลควรจะคำนึงถึงการกำหนดนโยบาย การออกกฏหมาย รวมทั้งสิทธิ์ประโยชน์ เพื่อสร้างโอกาสในการลงทุนเทคโนโลยี CCS เฉกเช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่นๆ ในความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างจริงจัง การตั้งราคาการตลาดของคาร์บอนก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ที่จะสร้างความชัดเจนและเสถียรภาพในการขับเคลื่อนการลงทุน

แนวคิดเรื่องโซนนวัตกรรม CCS ตามเส้นทางท่าเดินเรือของฮุสตัน เป็นความท้าทายประการหนึ่ง ความสำเร็จของโครงการนี้จะเป็นแผนนำทางสู่การลดคาร์บอนในพื้นที่ซึ่งมีการปล่อยก๊าซในอัตราสูงในสหรัฐอเมริกา และจะเป็นตัวอย่างที่สำคัญต่อพลังงานในอนาคตที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศอย่างมีนัยสำคัญ
และสำหรับในประเทศไทยเรา ก็เริ่มมีการพูดคุยเรื่องนี้ในภาคอุตสาหกรรมบ้างแล้ว ซึ่งน่าสนใจติดตามว่าเราจะสามารถดำเนินการให้ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างไร
–