แค่ 2 ปีผู้ใช้ไฟช่วยแบกภาระอุ้มผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกว่า 1 แสนล้านบาท

893
- Advertisment-

สำนักงาน กกพ.โชว์ตัวเลขแค่ 2 ปีผู้ใช้ไฟฟ้าช่วยอุ้มผู้ประกอบการพลังงานหมุนเวียนที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบกว่า 1 แสนล้านบาท
โดยแฝงรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าที่จ่ายในบิลค่าไฟฟ้าทุกเดือนประมาณ 30 สตางค์ต่อหน่วย

ข้อมูลจากตารางกราฟแท่งซึ่งแสดงถึงผลกระทบราคาค่าไฟฟ้าจากนโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบทั้งในรูปของการให้ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder)​ และการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed in Tariff หรือ FiT)​ ที่รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าทั้งค่าไฟฟ้าฐานและค่าไฟฟ้าเอฟที นั้น เฉพาะในปี 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 30.18 สตางค์​ต่อหน่วย คิดเป็นเงินประมาณ 52,166 ล้านบาท และในปี 2564 คิดเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 32.11สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นเงินประมาณ 56,554 ล้านบาท ซึ่งรวมเพียง 2 ปี คิดเป็นวงเงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายมากถึง 108,720 ล้านบาท

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า หากพิจารณาเฉพาะงวดแรกเดือน ม.ค.-เม.ย. ปี 2565 จะพบว่าประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่อยู่ในค่าไฟฟ้าในส่วนค่าเอฟที ประมาณ 29.44 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นวงเงินรวม 17,419 ล้านบาท
ซึ่งลดลงจากปี 2564 ในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. ที่อยู่ระดับ 31.13 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นวงเงินรวม 18,302 ล้านบาท เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนช่วงปลายปี 2564 จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่สม่ำเสมอ และประชาชนใช้ไฟฟ้ามากขึ้นทำให้เกิดการหารเฉลี่ยอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวลดลงไปด้วย

- Advertisment -

ทั้งนี้ตลอดปี 2565 การที่นโยบายพลังงานยังคงมุ่งเน้นพลังงานสะอาดและจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP มากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยที่มีการส่งเสริมอัตราค่าไฟฟ้าตามระบบFeed in Tariff ประชาชนก็จะยังต้องรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสำนักงาน กกพ.ได้มีการแยกต้นทุนดังกล่าวออกมาให้เห็นเพื่อให้ประชาชนได้เกิดความเข้าใจว่า พลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาดและสอดคล้องกับเทรนด์โลกนั้นเป็นพลังงานไฟฟ้าที่มีต้นทุนที่ต้องจ่าย

Advertisment