เหตุสำรองไฟล้นระบบ คาดรัฐ ยังไม่ใช้มาตรการจูงใจลดใช้ไฟฟ้าใน 1-2 ปีนี้

693
- Advertisment-

อัพเดท มาตรการจูงใจลดใช้ไฟฟ้า (Demand Response) ตามมติ กพช. ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)​ ขอกำหนดอัตราจูงใจผู้ร่วมโครงการ แบบครั้งต่อครั้ง เพื่อให้เหมาะสมกับต้นทุนค่าไฟฟ้าและสภาพเศรษฐกิจ แต่คาดว่าภายใน 1-2 ปีนี้จะยังไม่มีการนำมาใช้ เพราะสำรองไฟฟ้าของประเทศยังล้นระบบ

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ไปพิจารณามาตรการจูงใจลดใช้ไฟฟ้า (Demand Response) ว่า กกพ.อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการ Demand Response ซึ่งจะกำหนดอัตราผลตอบแทนให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการลดใช้ไฟฟ้าแบบสมัครใจ ตามช่วงเวลาที่ภาครัฐขอความร่วมมือ โดยหากผู้ร่วมโครงการลดใช้ไฟฟ้าได้เท่าไหร่ ก็จะได้รับเงินคืนตามที่ กกพ. กำหนดไว้

ทั้งนี้เบื้องต้นทาง กกพ.เห็นว่าไม่ควรกำหนดเป็นอัตราถาวร เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ค่าเงินบาทและสภาพเศรษฐกิจของแต่ละปีอาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ดังนั้นจึงควรกำหนดอัตราจูงใจลดใช้ไฟฟ้าเป็นแบบครั้งต่อครั้ง

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามทาง กกพ.อาจจะกำหนดเป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับมาตรการ Demand Response เอาไว้แต่ไม่ได้กำหนดอัตราตายตัว เพื่อให้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง รวมถึงมีความคุ้มค่ากับเงินค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่าย และในภาพรวมประเทศต้องได้ประโยชน์เป็นหลัก ทั้งนี้เมื่อ กกพ. กำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วจะเสนอให้ กพช.รับทราบต่อไป

โดยมาตรการ Demand Response อาจจะยังไม่ได้ใช้ในช่วง 1-2 ปีนี้ เหตุเพราะว่าสำรองไฟฟ้าของประเทศมีสูงมาก แต่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ตามที่ กพช.มีมติ ซึ่งก็เป็นเหมือนการที่ต้องยอมจ่ายเงินเพื่อให้เขาหยุดใช้ไฟฟ้า เช่น ถ้าเขาลดได้ 1 หน่วยไฟฟ้า ก็จะได้ 1 บาทคืนไป ซึ่งคุ้มค่ากว่าที่รัฐจะไปสร้างโรงไฟฟ้ารองรับPeak ที่มีราคา 2 บาทต่อหน่วย เป็นต้น

สำหรับมาตรการ Demand Response แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. มาตรการตอบสนองด้านโหลดต่อความน่าเชื่อถือของระบบ (Reliability-based Options) ซึ่งเป็นรูปแบบการจูงใจให้ลดใช้ไฟฟ้ากรณีที่คาดว่าไฟฟ้าจะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จากเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น แหล่งผลิตก๊าซหยุดจ่ายก๊าซฯ จากเหตุไม่คาดคิด เป็นต้น และ 2.มาตรการตอบสนองด้านโหลดต่อกลไกราคา (Price-based Options) เป็นการกำหนดราคาจูงใจให้ประชาชนหันไปใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ไฟฟ้าช่วง Peak

สำหรับประเทศไทยได้ใช้มาตรการ Demand Response มาตั้งแต่ช่วงปี 2556-2558 สามารถลดใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 700 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นดังนี้

  1. เดือน เม.ย. 2556 ทำการรณรงค์ลดการใช้พลังงานทั่วประเทศ ผ่านการขอความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตแหล่งก๊าซยานาดา
  2. เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2556 – 20 ม.ค. 2557 ทำการเปิดรับสมัครปริมาณที่สามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยสมัครใจมีเป้าหมาย 200 เมกะวัตต์ ดำเนินการได้จริง 70 เมกะวัตต์ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตแหล่งก๊าซยานาดา
  3. เดือน พ.ค. – ก.ค. 2557 ทำการรณรงค์ลดการใช้พลังงานพื้นที่ภาคใต้ ผ่านการขอความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตแหล่งก๊าซพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย( JDA)
  4. เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. – 10 ก.ค. 2557 ทำการเปิดรับสมัครปริมาณที่สามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยมีค่าชดเชยการลดการใช้ไฟฟ้า (Rebate) มีเป้าหมาย 247 เมกะวัตต์ ดำเนินการได้จริง 48 เมกะวัตต์ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตแหล่งก๊าซ JDAในช่วงปี 2558
  1. เมื่อวันที่ 10 – 27 เม.ย. 2558 ทำการเปิดรับสมัครปริมาณที่สามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยมีค่าชดเชยการลดการใช้ไฟฟ้า (Rebate) มีเป้าหมาย 676 เมกะวัตต์ ดำเนินการได้จริง 560 เมกะวัตต์ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตแหล่งก๊าซยานาดา
  2. เมื่อวันที่ 21 – 25 ก.ค. 2558 ทำการเปิดรับสมัครปริมาณที่สามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยมีค่าชดเชยการลดการใช้ไฟฟ้า (Rebate) มีเป้าหมาย 53 เมกะวัตต์ ดำเนินการได้จริง 25 เมกะวัตต์ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตแหล่งก๊าซ JDA
    และ 7. เมื่อวันที่ 21 – 25 ก.ค. 2558 เปิดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากกำลังผลิตส่วนเหลือของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก( VSPP) ที่ใช้เชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงเวลา 18.30 -21.30 น. โดยให้อัตรารับซื้อตามอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งรวมค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ( Ft) ขายส่งเฉลี่ย (ไม่ได้รับค่า Adder) โดยดำเนินการได้จริงจำนวน 19,011 หน่วย เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตแหล่งก๊าซ JDA
Advertisment