ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ” มนูญ ศิริวรรณ ” เสนอลดสัดส่วนปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อแก้ปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นระบบ และไม่ควรเพิ่มอัตรารับซื้อในโครงการโซลาร์ภาคประชาชน หวั่นประชาชนเก็งกำไรแทนการติดตั้งเพื่อใช้เอง ในขณะที่ ตัวแทนวิสาหกิจชุมชน 10 แห่ง จาก ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อตัวแทนของ นายวิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้ช่วยเร่งรัดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน
โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP2018 rev 1 ซึ่งยังไม่มีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการ เนื่องจากยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยตลอดทั้งแผน 2562-2580 จะรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 1,933 เมกะวัตต์ ซึ่งภายในปี 2565 จะรับซื้อในปริมาณ 700 เมกะวัตต์แบ่งเป็นประเภทโครงการเร่งด่วน หรือ Quick win ปริมาณ 100 เมกะวัตต์ และประเภททั่วไป 600 เมกะวัตต์ ทั้งนี้การเสนอให้ทบทวนปริมาณรับซื้อ หมายถึงการต้องนำแผนPDP2018 rev 1 มาปรับปรุงใหม่อีกรอบ
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เปิดเผยว่า ปริมาณที่จะรับซื้อในช่วงแรกรวม 700 เมกะวัตต์นั้น ถือว่าสูงเกินไป และจะส่งผลกระทบให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศสูงเกินความจำเป็นมากขึ้น จากปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองไฟฟ้ามากถึงเกือบ 40% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศอยู่แล้ว
ทั้งนี้การปรับลดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว ควรปรับลดเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภททั่วไป 600 เมกะวัตต์ โดยพิจารณาความเหมาะสมจากสถานที่ที่พร้อมดำเนินโครงการและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนเป็นหลัก ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภท Quick Win 100 เมกะวัตต์ เห็นว่าเป็นปริมาณไม่มากและเหมาะสมอยู่แล้ว
สำหรับโครงการโซลาร์ภาคประชาชนตามแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 มีการปรับลดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชนลงจากเดิมรับซื้อ 100 เมกะวัตต์ต่อปี เหลือเพียง 50 เมกะวัตต์ต่อปี เห็นว่าเป็นปริมาณที่เหมาะสมแล้ว เนื่องจากประชาชนยังไม่สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากนัก แต่ไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งมากขึ้นโดยการเพิ่มราคารับซื้อจาก 1.68 บาทต่อหน่วย เพราะจะผิดวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการให้ประชาชนติดตั้งเพื่อใช้เองเป็นหลัก ส่วนที่เกินความต้องการใช้จึงสามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ ซึ่งหากให้ราคารับซื้อสูงจะกลายเป็นการจูงใจให้ประชาชนติดตั้งเพื่อสร้างผลกำไรแทน
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ในวันนี้ (23 กรกฎาคม 2563 ) เวลาประมาณ 13.30 น. ตัวแทนจากวิสาหกิจชุมชน 10 แห่ง จาก ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อตัวแทนของ นายวิษณุ เครืองาม ในฐานะที่เป็นผู้รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้ช่วยเร่งรัดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนโดยเร็ว เนื่องจากเห็นว่า เป็นโครงการที่มีประโยชน์ที่จับต้องได้กับทุกฝ่าย ตั้งแต่ ผู้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า ,เกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน , ผู้ดำเนินการตัดและนำส่งพืชพลังงานถึงโรงไฟฟ้า , กองทุนหมู่บ้าน และ วิสาหกิจชุมชน ที่จะได้รับส่วนแบ่งจากการขายไฟฟ้าในโครงการฯ อย่างยั่งยืน โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพางบประมาณจากทางราชการ