เวทีเสวนาชี้เทรนด์ผู้บริโภคใส่ใจสินค้าเพื่อความยั่งยืน แนะผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ Net Zero

465
- Advertisment-

เวทีเสวนา “Fast Track to the Net Zero” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) เผยผลสำรวจผู้บริโภคทั่วโลก มีแนวคิดให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น โดย ดาว ประเทศไทย ในฐานะบริษัทวัสดุศาสตร์ที่เน้นนวัตกรรมและความยั่งยืน ได้แชร์ความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างสรรค์ solution และการปรับกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมแนะผู้ประกอบการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero เพื่อตอบโจทย์ทิศทางผู้บริโภคฉลาดเลือก ขณะที่กลุ่มพันธมิตร Alliance to Plastic Waste เน้นย้ำการจัดการพลาสติกเหลือใช้อย่างเป็นระบบภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งผนึกความร่วมมือระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ผลสำรวจทางการตลาดระดับโลกโชว์ผู้บริโภคใส่ใจด้านความยั่งยืนมากขึ้น

ชีวานนท์ ปิยะพิทักษ์สกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ประเทศไทยและมาเลเซีย, Kantar, Worldpanel Division

ในงานเสวนา Fast Track to the Net Zero มีการเสวนาในหัวข้อย่อยที่น่าสนใจมากหัวข้อหนึ่ง คือ “Winning the Smart Consumers :  Sustainable Path to Superior Growth” โดย ชีวานนท์ ปิยะพิทักษ์สกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ประเทศไทยและมาเลเซีย, Kantar, Worldpanel Division หนึ่งในผู้ร่วมวงเสวนา ได้เปิดเผยถึงรายงานการสำรวจผู้บริโภคของบริษัทวิจัยทางการตลาดระดับโลกอย่าง Kantar ซึ่งจัดทำร่วมกับพาร์ทเนอร์และเก็บข้อมูลผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่องกว่า 88,000 คน จาก 26 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เพื่อเจาะหาข้อมูลเชิงลึก (insight) ของผู้บริโภคในด้านความยั่งยืน เชื่อมโยงไปยังการซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งจากรายงานพบว่าผู้บริโภคกลุ่มที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรโลกในปี 2030 โดยจากการสำรวจพบว่าวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ยิ่งเร่งให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากกว่าที่เคย

โดยสิ่งที่ผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมีความกังวลหลักๆ คือ ประเด็นเรื่องภาวะโลกรวน หรือ Climate change ปัญหาน้ำเสีย ปัญหาขยะพลาสติก และมลพิษทางอากาศ รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่า โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความตั้งใจจะดำเนินการเพื่อลด carbon footprint และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถเติม ใช้ซ้ำ และรีไซเคิลได้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมด้านความยั่งยืน

- Advertisment -

“ผู้ผลิตและค้าปลีกจำเป็นต้องเริ่มดำเนินการ (ด้านความยั่งยืน) ณ ตอนนี้ เพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” ชีวานนท์กล่าว

แนะผู้ประกอบการปรับกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

จิรวาเรศ พึ่งสุจริต ผู้อำนวยการฝ่ายขาย Home & Personal Care, Dow Consumer Solutions ASEAN and Australia & New Zealand

ในโอกาสนี้ ผู้ประกอบการอย่าง Dow ในฐานะบริษัทวัสดุศาสตร์ระดับโลกที่เน้นนวัตกรรมและความยั่งยืน ได้แบ่งปันความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างสรรค์ solution และการปรับกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนอกจากตอบสนองผู้บริโภคที่สนใจด้านความยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการสร้างตลาดสินค้าเพื่อความยั่งยืนให้เพิ่มมากขึ้นด้วย โดย จิรวาเรศ พึ่งสุจริต ผู้อำนวยการฝ่ายขาย Home & Personal Care, Dow Consumer Solutions ASEAN and Australia & New Zealand กล่าวว่า จากการศึกษา พบว่าแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคจะหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าที่ได้มาจากวัตถุดิบในการผลิตที่มีความยั่งยืน  เช่น บรรจุภัณฑ์ต้องสามารถ รีไซเคิล ได้ ทั้งนี้ ในส่วนของ Dow ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ที่อยู่รอบๆ ตัวผู้บริโภค จึงลงทุนเม็ดเงินจำนวนมากเพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะให้ความสำคัญในการจัดหาวัตถุดิบในการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้วัตถุดิบน้อยลง และผลิตภัณฑ์สามารถย่อยสลายได้ในสิ่งแวดล้อม หรือ สามารถรีไซเคิล ได้ รวมทั้งมีกระบวนการผลิตที่ประหยัดพลังงานและใช้พลังงานสะอาดในการผลิต โดย Dow ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง คือ การใช้พลังงานสีเขียวในการผลิตให้ได้ ถึง 60% ในอีก 2 ปีข้างหน้า

จิรวาเรศ แนะว่า “ผู้ผลิตควรเริ่มทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และให้มีความยั่งยืน โดยเริ่มจากกระบวนการผลิตให้เป็น green process เพื่อลด Carbon Footprint ใช้วัตถุดิบ (feedstock) จากธรรมชาติ เป็นผลิตภัณฑ์ biodegradable ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้จนถึงแหล่งผลิต”

น้นย้ำการจัดการพลาสติกเหลือใช้อย่างเป็นระบบภายใต้แนวคิด Circular Economy

นิโคลัส โคลเลช รองประธานโครงการ Alliance to End Plastic Waste

นิโคลัส โคลเลช รองประธานโครงการ Alliance to End Plastic Waste ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกเพื่อการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ชี้ให้เห็นว่า บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนนั้น นอกจากวัสดุในการผลิตแล้ว ส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การจัดการหลังการใช้งานเพื่อความยั่งยืน ซึ่งหลักการที่สำคัญ คือ ทำให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเหล่านั้นเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อให้เกิดการใช้ซ้ำหรือ รีไซเคิล ไม่ให้พลาสติกเหลือใช้ทั้งหลายหลุดรอดออกไปสู่สิ่งแวดล้อม โดยกลุ่ม Alliance to End Plastic Waste เป็นความร่วมมือของเหล่าบริษัทผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์รวมถึงผู้ประกอบการในธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน ร่วมเป็นสมาชิกและทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดความรู้ความเข้าใจและการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในการจัดการขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ Alliance to End Plastic Waste เองนั้น มีการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติก ร่วมกับองค์กรอื่นๆ กว่า 40 โครงการทั่วโลก โดยโครงการที่ประสบความสำเร็จ อาทิ โครงการวังหว้า หรือ Wangwa Model จังหวัดระยอง ในประเทศไทย ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในฐานะชุมชนต้นแบบที่นำขยะมาใช้ประโยชน์ได้อย่างครบวงจร นำไปสู่การจัดการขยะแบบยั่งยืน นอกจากนั้นยังมีโครงการจัดการขยะเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ในบาหลี อินโดนีเซีย และโครงการเก็บขยะพลาสติกในมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์

“การผสานความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน” นิโคลัสกล่าว

ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมชุบชีวิตขยะพลาสติก สร้างมูลค่าเพิ่ม

อีเจ หลิว Senior Sales Leader, Packaging and Specialty Plastics, Dow Southeast Asia/ Australia New Zealand

ด้าน อีเจ หลิว Senior Sales Leader, Packaging and Specialty Plastics, Dow Southeast Asia/ Australia New Zealand กล่าวในวงเสวนาว่า Dow เดินหน้าพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่เพื่อให้มั่นใจว่าวัสดุที่ทำเป็นบรรจุภัณฑ์สามารถ รีไซเคิล ได้ โดยนำเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีความแข็งแรง มีคุณภาพดีแต่ใช้วัตถุดิบน้อยลง มองหาวัตถุดิบทางเลือก เช่น พลังงานหมุนเวียน ที่ช่วยลด carbon footprint รวมถึงพยายามจำกัดการปล่อยคาร์บอนจากทุกหน่วยการผลิตของบริษัทฯ ทั่วโลก

โดย case ที่ Dow ประสบความสำเร็จในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน case หนึ่งในประเทศไทย คือ การออกแบบถุงบรรจุข้าวสารสำหรับขายปลีก ที่ร่วมกับพันธมิตรกลุ่ม CP ซึ่งบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุชนิดเดียว หรือ mono material ที่สามารถรีไซเคิล ได้ง่าย แต่ยังลดความหนาลงถึง 20% ทำให้ใช้เม็ดพลาสติกที่เป็นวัตถุดิบน้อยลง แต่ยังคงความแข็งแรงในการป้องกันสินค้า ซึ่งการลดใช้วัตถุดิบก็สามารถลด carbon footprint ลงได้ นอกจากนั้น Dow ยังพัฒนาหลากหลายบรรจุภัณฑ์ภายใต้คอนเซ็ปท์เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่ NET Zero อาทิ ฟิล์มหุ้มขวดพลาสติกที่บางลง แต่เหนียวและแข็งแรง ถุงรีฟิลที่ใช้วัตถุดิบในการผลิตน้อยลง และยังสามารถรีไซเคิลได้ เป็นต้น

ถุงข้าวรักษ์โลก

ในทัศนะของอีเจ พลาสติกเป็นวัสดุที่มีประโยชน์ที่สุดในการทำบรรจุภัณฑ์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงผลกระทบของขยะพลาสติกที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นปัญหาที่ต้องร่วมกันจัดการแก้ไข ซึ่งหลัก Circular Economy คือการหมุนเวียนนำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ เป็นแนวทางที่มีประสิทธฺภาพในการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

“ถ้าเราสามารถชุบชีวิตให้ขยะพลาสติก ทำให้พลาสติกเหลือใช้หมุนเวียนกลับมาใช้ได้อีกเรื่อยๆ ก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาล อีกทั้งยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจอีกมากมาย” อีเจ กล่าวสรุป

Advertisment