กระทรวงพลังงาน เตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อดึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาช่วยค่าเดินทางให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย ก่อนพิจารณายกเลิกบัตรส่วนลดราคา NGV 3 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับรถโดยสารสาธารณะ รถตู้สาธารณะ แท็กซี่ ที่ปตท.ต้องแบกรับภาระในส่วนนี้ปีละกว่า 1,900 ล้านบาท
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณากรณี บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) แบกรับภาระอุดหนุนราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) มาเป็นเวลานาน โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ที่ผ่านมาเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบผลกระทบการลอยตัวราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) โดยคณะทำงานประกอบด้วยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.),กระทรวงการคลัง ,กระทรวงมหาดไทย บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ซึ่งเริ่มประชุมครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา
โดยกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาข้อมูลที่แท้จริงว่า การให้ส่วนลดราคาก๊าซ NGV สำหรับกลุ่มรถแท็กซี่ รถโดยสารขนาดเล็ก(รถสองแถว) รถตู้สาธารณะ เป็นต้นนั้น ผลประโยชน์ที่แท้จริงจะตกอยู่กับใคร ประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือไม่ และหากยกเลิกบัตรส่วนลดราคาก๊าซ NGV จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง
พร้อมกันนี้กำลังพิจารณาแนวทางการนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาใช้เป็นช่องทางให้ส่วนลดราคาค่าโดยสารแทน เช่น ค่าแท็กซี่ ค่ารถสองแถว รถตู้ เป็นต้น โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลังว่าสามารถนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาใช้ในแนวทางดังกล่าวได้หรือไม่
“กำลังดูอยู่ว่าการนำเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาช่วยเหลือค่าโดยสารให้ประชาชน แทนการเอาเงินไปชดเชยส่วนลดให้กับผู้ประกอบการ แบบไหนจะเป็นประโยชน์มากกว่ากัน ซึ่งคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาจะมาพิจารณาว่าใครคือผู้ใช้บัตรส่วนลด NGV บ้าง ใครได้ประโยชน์จริง คนจนได้ประโยชน์ไหม แล้วกลุ่มแท็กซี่จะทำอย่างไร รถตู้จะได้รับผลกระทบหรือไม่ ก็ต้องศึกษาให้ชัดเจนก่อน”
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า มติ กบง.ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2พ.ค. 2561 เห็นชอบให้ปรับราคา ก๊าซNGV สำหรับกลุ่มรถสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถตู้และรถขนส่งสาธารณะ ให้มีราคาเท่ากับผู้ใช้ NGV ทั่วไป ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือน ก.ค. 2562 นี้ จากเดิมที่มีราคาถูกกว่าผู้ใช้ NGV ทั่วไป 3 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับปัจจุบันราคา NGV อยู่ที่ 16.44 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ที่ผ่านมาภาครัฐและปตท.ได้ให้การช่วยเหลือกลุ่มรถ NGV สาธารณะมานานนับตั้งแต่ปี 2555 ตามโครงการบัตรส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) โดย ปตท.เป็นผู้แบกรับภาระส่วนลดดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 1,900 ล้านบาท ดังนั้นกระทรวงพลังงานเห็นควรให้ปรับราคาก๊าซฯ NGVในกลุ่มดังกล่าวให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสะท้อนราคาพลังงานให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก สำหรับปัจจุบันมียอดผู้ใช้บัตรตามโครงการส่วนลดบัตร NGV ดังกล่าวอยู่ที่ 86,222 ใบ