เร่งตรวจสอบโครงสร้างพลังงานหลังแผ่นดินไหว พบไฟฟ้าหลุดจากระบบ 600 เมกะวัตต์ แต่แก้ไขเรียบร้อย ปลัดพลังงานยืนยันสถานการณ์ยังปกติ

388
- Advertisment-

ปลัดกระทรวงพลังงาน เร่งตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน หลังแผ่นดินไหวรุนแรงรู้สึกได้ถึง กทม. ยืนยันการส่งก๊าซฯ ยังเป็นปกติ และเขื่อนทุกแห่งยังปลอดภัย แม้จะมีโรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโรงไฟฟ้าแม่เมาะบางหน่วยผลิตหลุดจากระบบ ไฟฟ้าหายไป 600 เมกะวัตต์ แต่ กฟผ. ได้แก้ไขนำไฟฟ้าอื่นมาเสริมระบบได้ทันที ไม่กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าประชาชน ขณะที่สำนักงานกระทรวงพลังงาน ตึกเอ็นโก้ B รับรู้แรงสั่นสะเทือน เร่งอพยพข้าราชการและพนักงานทุกคนออกจากอาคารทั้งหมดแล้ว

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยและรู้สึกได้ถึงพื้นที่ กทม. ว่า กระทรวงพลังงานได้เร่งติดตามและตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานจากทุกหน่วยงานแล้ว โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รายงานว่าทุกเขื่อนของ กฟผ. ยังปลอดภัยดี แต่ในส่วนของโรงไฟฟ้าพบว่ามีโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ที่ตัดไฟฟ้า (Trip) คือโรงไฟฟ้าพระนครใต้ หน่วยที่ 4 และโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 8 ซึ่งเกิดจากการสั่นสะเทือน (Vibration) ในอุปกรณ์ ซึ่งทาง กฟผ. ได้สลับให้โรงไฟฟ้าอื่นมาเสริมระบบแทน ซึ่งโดยรวมไม่ได้สร้างปัญหาด้านไฟฟ้าให้กับประชาชนแต่อย่างใด   

ขณะที่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ก็ยืนยันว่าท่อก๊าซธรรมชาติต่างๆ ยังอยู่ในภาวะปกติ ยังไม่พบปัญหาจากแผ่นดินไหว โดยการส่งก๊าซธรรมชาติจากประเทศเมียนมาและอ่าวไทยยังคงจัดส่งได้ตามปกติ รวมทั้งคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ก็ยังสามารถส่งก๊าซฯ ได้ตามปกติเช่นกัน

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ด้านพลังงานอย่างใกล้ชิด โดยให้ทุกหน่วยงานรายงานเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง และให้พลังงานจังหวัดเฝ้าติดตามและรายงานสถานการณ์ หากมีสิ่งผิดปกติให้รายงานกระทรวงพลังงานทันที

สำหรับพื้นที่กระทรวงพลังงานที่ตั้งอยู่ในอาคารเอ็นโก้ B ที่มีจำนวน 25 ชั้น ทางกระทรวงพลังงานและสำนักงานเอ็นโก้ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกคนออกจากอาคารเรียบร้อยแล้ว และเฝ้าติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวต่อไป โดยหากยังไม่ปลอดภัยก็จะไม่อนุญาตให้เข้าอาคาร

ขณะที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญของกระทรวงพลังงานที่ยังตั้งอยู่ที่ ถ. เพชรบุรี กทม. นั้น นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้สั่งการให้ข้าราชการและพนักงานทุกคนเร่งออกจากอาคาร เนื่องจากพบว่าตัวอาคาร 6 ชั้นเกิดความสั่นไหวรุนแรง และขอความร่วมมือยังไม่ให้เข้าไปยังอาคารในวันนี้ (28 มี.ค. 2568) เพื่อความปลอดภัย

ด้านสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) แจ้งว่า จากกรณีเกิดแผ่นไหวในประเทศเป็นวงกว้าง จึงส่งผลให้ระบบอัตโนมัติของโรงไฟฟ้าสั่งหยุดเดินเครื่องและหลุดออกจากระบบ 2 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8  และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ เครื่องที่ 4 ส่วนที่ 1 เป็นผลให้กำลังผลิตหายไปประมาณ 600 เมกะวัตต์ แต่เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าสำรองอย่างพอเพียง ทำให้เดินเครื่องส่งไฟฟ้าเข้าระบบทันเวลา จึงสามารถรักษาระบบไว้ได้และไม่มีไฟฟ้าดับในทุกพื้นที่

ด้านศูนย์ควบคุมระบบส่งก๊าซธรรมชาติ รายงานต่อสำนักงาน กกพ. ว่า หลังเกิดแผ่นดินไหวได้ตรวจสอบสถานะการรับส่งก๊าซฯ พบว่ายังคงเป็นปกติ ไม่มีผลกระทบต่อการรับส่งก๊าซ ทั้งนี้ TSO (Transmission System Operator) ได้ดำเนินการตรวจสอบ เฝ้าระวังระบบท่ออุปกรณ์ และจัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์  หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หลังจากเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหว โดยจุดศูนย์กลางอยู่ที่เมียนมา และทำให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ในส่วนของโครงสร้างด้านพลังงาน ทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน ได้มีการตรวจสอบในเบื้องต้นแล้ว พบว่ายังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมดำเนินการตามแผน หากสถานการณ์เพิ่มความรุนแรงจนส่งผลกระทบ

“หลังจากเกิดแผ่นดินไหวในช่วงบ่ายที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้เร่งประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รายงานผลกระทบจากแผ่นดินไหว ซึ่งในส่วนของไฟฟ้า ในเบื้องต้นได้รับแจ้งว่า การส่งก๊าซธรรมชาติยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ และในส่วนของโรงไฟฟ้าทุกโรงก็ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันเชื้อเพลิงก็ยังไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมรองรับหากเกิด Aftershock หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบต่อไป“ นายวีรพัฒน์ กล่าว

ด้านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA ยืนยัน หลังเหตุแผ่นดินไหว ยังสามารถจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่ที่รับผิดชอบได้ตามปกติ ส่วน กฟผ.ได้มีการตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนผ่านเครื่องมือวัดต่าง ๆ ที่ติดตั้งไว้ที่เขื่อนและรอบอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. พบว่า เขื่อนของ กฟผ. ไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในเมียนมา โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากเขื่อนสิริกิติ์ 637 กิโลเมตร วัดอัตราเร่งที่สันเขื่อนได้ 0.00052g ทั้งนี้เขื่อนถูกออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหวได้ 0.1-0.2g ขณะนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์อาฟเตอร์ช็อค โดยจะดูแลการจ่ายไฟฟ้าโดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน

Advertisment