เร่ง กฟผ.-ปตท.ทำสัญญาระยะกลางแทนการซื้อ Spot LNG ราคาแพง หวังให้ทันใช้ปี 65

883
- Advertisment-

กกพ.ปรับแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปี 65 โดยจะให้กฟผ.และ ปตท.เจรจาคู่ค้าเพื่อทำสัญญาระยะกลางหรือระยะยาว แทน Spot LNG หวังให้ได้เงื่อนไขราคาที่ถูกกว่า เพื่อลดผลกระทบต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยเป็นปริมาณที่ครอบคลุมกรณีแหล่งก๊าซเอราวัณผลิตก๊าซไม่ต่อเนื่องหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เม.ย.65

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่าราคาSpot LNG ที่คาดว่าจะมีความผันผวนในระดับสูงในปี 2565 จะทำให้ Shipper​ รายใหม่ซึ่งเป็นเอกชนจะไม่นำเข้า LNG ตามโควต้าปี 65 ปริมาณ 1.74 ล้านตัน ทาง กกพ.จึงมีแนวทางให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)​และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)​เจรจากับผู้ค้าเพื่อทำสัญญาระยะกลางหรือระยะยาว ที่เชื่อว่าจะได้เงื่อนไขราคาดีกว่าการนำเข้าแบบ Spot LNG​ ซึ่งในส่วนของ กฟผ.นั้นสามารถที่จะนำเข้า LNG ในส่วนนี้ได้อยู่แล้ว แต่ในส่วนของ ปตท.นั้น ทาง กกพ.อาจจะต้องใช้ มาตรา57 ตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน อนุมัติให้นำเข้าเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานประเทศ อีกครั้ง หลังจากที่ได้ใช้ไปแล้วสำหรับการอนุมัติให้ ปตท.นำเข้า Spot LNG ในส่วนโควต้าปี 64 แทนปริมาณของShipper เอกชน

ทั้งนี้ปริมาณการนำเข้า LNG ในส่วนที่เป็นสัญญาระยะกลางหรือระยะยาว ของ กฟผ.และ ปตท. จะครอบคลุมกรณีที่แหล่งก๊าซเอราวัณในอ่าวไทยผลิตก๊าซไม่ต่อเนื่องหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือน เม.ย.65 โดยจะต้องนำเข้า LNG มาทดแทนปริมาณก๊าซส่วนดังกล่าวที่จะหายไปด้วย

- Advertisment -

นายคมกฤช กล่าวยอมรับว่า การที่ราคาSpot LNG มีความผันผวนในระดับสูง จะกระทบต่อค่าไฟฟ้า เนื่องจาก ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60 % โดยหากก๊าซจากอ่าวไทยลดปริมาณ​ลง ก็จำเป็นจะต้องนำเข้า LNG เข้ามาทดแทน

ทั้งนี้ กกพ.ให้ความสำคัญเรื่องของความมั่นคงไฟฟ้า มากกว่า ก๊าซราคาแพง เพราะหากเกิดกรณีก๊าซขาดแคลนและทำให้ไฟฟ้าดับ จะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ​มากกว่า อย่างไรก็ตามในกรณีที่ LNG ราคาสูงกว่า 25 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ทาง กกพ.จะให้ กฟผ.เดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตาและดีเซล​ให้เต็มที่ก่อน เพราะเปรียบเทียบแล้วมีต้นทุนที่ถูกกว่า โดยในเดือน ม.ค.และ ก.พ. 65 กฟผ.ได้เตรียมแผนที่จะเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมัน แทน LNG ไว้แล้ว

สำหรับการบริหารจัดการ LNG โควต้า ปี 64 ปริมาณ 4.8 แสนตันนั้น เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและจำเป็นจะต้องเตรียม LNGสำรองเอาไว้ในคลังเก็บ จึงอนุมัติให้ กฟผ.และ ปตท.นำเข้าSpot LNG เพิ่มขึ้นเป็น 6 แสนตัน แบ่งเป็นรายละ 3 แสนตัน โดย กกพ.อาศัยกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 57 เกี่ยวกับความมั่นคงด้านพลังงาน อนุมัติให้ ปตท.นำเข้า Spot LNG ปริมาณดังกล่าวได้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนก๊าซ โดยราคาที่นำเข้าอยู่ในช่วงระหว่าง 20-33 เหรียญสหรัฐ​ต่อล้านบีทียู ซึ่งต้นทุนLNGที่แพงขึ้น จะถูกนำไปคำนวณรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าส่วนของค่าเอฟที

Advertisment