เรียกตัวแทนโรงกลั่นน้ำมันคุยสัปดาห์นี้ หวังยกมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร5แก้ปัญหาฝุ่นพิษ

913
- Advertisment-

กรมธุรกิจพลังงาน รับลูกกรมควบคุมมลพิษ เตรียมหารือผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันในสัปดาห์นี้ หวังยกระดับคุณภาพน้ำมัน จากมาตรฐานยูโร 3และ4 เป็น ยูโร5 ตามยุโรป ซึ่งจะช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ( PM2.5)ในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรแออัด  ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ยืนยัน โรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีมาตรฐานสูงในการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่อยู่ในเกณฑ์สากล ไม่ก่อปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากกรมควบคุมมลพิษได้ออกมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยหนึ่งในมาตรการดังกล่าวคือการปรับปรุงมาตรฐานไอเสียรถยนต์ใหม่ให้เป็น มาตรฐานยูโร 5หรือ6 ด้วยการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงและยกระดับการผลิตรถยนต์ให้เป็นไปตามยูโร 5หรือ6 นั้น

กรมธุรกิจพลังงานได้เตรียมหารือกับผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันในสัปดาห์นี้ เพื่อวางแนวทางในการปรับคุณภาพน้ำมันในประเทศ จากปัจจุบันที่ใช้มาตรฐานยูโร 3 และ 4 ให้ปรับเป็นมาตรฐานยูโร 5

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามการปรับคุณภาพน้ำมันขึ้นเป็นยูโร 5 นั้น จะต้องใช้เวลาเป็นปี เนื่องจากผู้ประกอบการโรงกลั่นต้องมีการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรกลซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง ดังนั้นจึงไม่สามารถดำเนินการได้ทันที และหลังจากดำเนินการได้สำเร็จแล้วจะทยอยเพิ่มมาตรฐานเป็นยูโร 6 เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกับยุโรปต่อไป  ทั้งนี้ การปรับมาตรฐานน้ำมันดังกล่าว จะมีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ที่มีการจราจรแออัด ได้ในอนาคต

ในขณะที่ นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโฆษก กฟผ. กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดในกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนใหญ่มาจากภาคการขนส่งเป็นหลัก ซึ่งอาจจะยังไม่เกี่ยวข้องกับการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.มากนัก เนื่องจากปัจจุบัน กฟผ.มีโรงไฟฟ้าถ่านหินหลักเพียงแห่งเดียวคือโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีมาตรฐานการดักจับฝุ่นคุณภาพสูง และปัจจุบันการดักจับฝุ่นยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ก่อปัญหามลพิษทางอากาศพื้นที่จ.ลำปางแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามหากในอนาคตปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นพิษ ขยายวงกว้างทั่วประเทศ กฟผ.ก็จำเป็นจะต้องพิจารณาว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าดีเซลนั้นก่อปัญหาฝุ่นละอองจริงหรือไม่

ทั้งนี้โรงไฟฟ้าดีเซลและน้ำมันเตา ของ กฟผ.นั้น มีอยู่ที่ภาคใต้และภาคเหนือ ซึ่งปกติก็ไม่ได้ถูกสั่งให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สูง

Advertisment