ภาคพลังงานทุ่มเม็ดเงินกว่า 1.3 แสนล้านบาทช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศในปี 64

460
- Advertisment-

กระทรวงพลังงานเผยปี 2564 จะมีเม็ดเงินจากภาคพลังงานลงไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศกว่า 1.3 แสนล้านบาท พร้อมได้ไฟเขียวจาก กพช.ให้ออกมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ได้ทันที หากภาครัฐมีมาตรการล็อกดาวน์อีกรอบ เหมือนเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา 

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพร้อมด้วย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนผ่าน Facebook Live ในเพจกระทรวงพลังงาน http://www.facebook.com/ministryofenergy ตั้งแต่เวลา 11.15 น. โดยใช้เวลาประมาณ เกือบ 30 นาที

โดยสาระสำคัญในการแถลงข่าว ระบุถึง การผลักดันนโยบายด้านพลังงานที่จะเข้าไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปี 2564 วงเงินรวมประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นในส่วนของการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงาน ของรัฐวิสาหกิจในกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ทั้งใน กลุ่ม ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตลอดจนภาคเอกชนด้านพลังงานผ่านนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน และโรงไฟฟ้าขยายผล รวม 150 เมกะวัตต์ ที่จะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ในช่วงต้นปี 2564

- Advertisment -

นอกจากนี้ยังจะเน้นส่งเสริมภาคธุรกิจในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หรือ ESCO ( Energy Service Companies ) ในส่วนของภาครัฐ รวมทั้งการจัดสรรงบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประมาณ 2,400 ล้านบาทกระจายลงไปใน 76 จังหวัด เฉลี่ยจังหวัดละ 25 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการที่ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการอนุรักษ์พลังงาน และอีก 500 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ไฟฟ้ายังเข้าไปไม่ถึง (Off Grid )

นายสุพัฒนพงษ์ ยังกล่าวถึง มาตรการเยียวยาของภาคพลังงานในการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2564 ด้วยว่า โดยส่วนตัวยังเชื่อว่าการแพร่ระบาดจะไม่กระจายออกไปในวงกว้าง เพราะประชาชนมีความตระหนักรู้และตื่นตัวมากขึ้นในการป้องกันตัวเอง เมื่อเทียบกับช่วงเริ่มต้นที่มีการแพร่ระบาดในประเทศ อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดมีความรุนแรง จนรัฐต้องมีมาตรการล็อกดาวน์เหมือนเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงพลังงาน ก็ได้ขออำนาจในการพิจารณาอนุมัติมาตรการเยียวยา จากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆได้ทันที ผ่านคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน โดยไม่ต้องเสนอให้ กพช.ให้ความเห็นชอบอีก

 

Advertisment