เผย ชัยภูมิ ศรีสะเกษ ขอนแก่น ได้งบกองทุนอนุรักษ์พลังงาน สำหรับระบบโซลาร์สูบน้ำเพื่อการเกษตร

2485
- Advertisment-

เผย ชัยภูมิ ศรีสะเกษ ขอนแก่นเป็น 3 จังหวัดแรกที่ได้รับอนุมัติงบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2563 สำหรับโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร มากที่สุด รวมกว่า 303 ล้านบาท จากวงเงินกองทุนฯอนุมัติทั้งสิ้น 2,066 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2563 ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ที่ผ่านมา ได้อนุมัติโครงการที่ขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2563 จำนวน 2,066 ล้านบาท

โดยในส่วนแผนงานพลังงานทดแทน ประเภทโครงการทั่วไป คือ โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร ที่ผ่านการพิจารณา จำนวน 968 โครงการนั้น พบว่า 3 จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรงบสูงสุด ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ วงเงินที่ยื่นของบทั้งสิ้น 166 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ จำนวน 318 ระบบ

- Advertisment -

รองลงมาได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ขอรับการจัดสรรงบวงเงินรวม 91 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจัดหาแหล่งน้ำและติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร จำนวน 146 ระบบ

และจังหวัดขอนแก่น วงเงิน 46 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์จากน้ำใต้ดิน(บ่อบาดาล) ของจังหวัดขอนเก่น จำนวน 92 ระบบ

สำหรับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ 2563  คณะกรรมการฯ ได้มีมติอนุมัติโครงการ จำนวน 1,035 โครงการ วงเงินที่ให้การสนับสนุน 2,066 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 แผนงาน คือ  แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อนุมัติทั้งหมด 16 โครงการ กรอบวงเงินสนับสนุน 535 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กลุ่มงานตามกฎหมาย จำนวน 4 โครงการ (2) กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย เพื่อการพัฒนาและส่งเสริม จำนวน 1 โครงการ (3) กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร จำนวน 5 โครงการ (4) กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร จำนวน 2 โครงการ และ (5) กลุ่มงานสนับสนุนลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งแบ่งเป็นโครงการพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก นโยบายพลังงานเพื่อทุกคน (Energy for all) จำนวน 2 โครงการ ซึ่งสนับสนุนในรูปแบบเงินก้อน (Block grant) และโครงการทั่วไป จำนวน 2 โครงการ

แผนพลังงานทดแทน อนุมัติทั้งหมด จำนวน 1,019 โครงการ กรอบวงเงินสนับสนุน 1,531ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย เพื่อการพัฒนาและส่งเสริม จำนวน
1 โครงการ (2) กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร จำนวน 4 โครงการ และ (3) กลุ่มงานสนับสนุนลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มเศรษฐกิจฐานรากและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งเป็นโครงการ Energy for all จำนวน 41 โครงการ โดยสนับสนุนในรูปแบบ Block grant และโครงการทั่วไป ซึ่งมี 3 ประเภท คือ โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร จำนวน 968 โครงการ โครงการ ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 1 โครงการ โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับโรงเรียนในชนบท ประเภทไม่มีไฟฟ้า จำนวน 2 โครงการ และโครงการพระราชดำริ จำนวน 2 โครงการ

Advertisment