เปิดโลกพลังงานไฟฟ้า กับศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทั้ง 6 แห่ง

3214
- Advertisment-

ช่วงไฮซีซั่นนี้ หากยังวางแผนท่องเที่ยวไม่ได้สักที แนะนำให้เที่ยวแนวใหม่กับ ‘ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.’ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่นอกจากมีกิจกรรมสนุกสนาน จุดประกายความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังแบ่งปันความรู้ในเรื่องพลังงานไฟฟ้าที่สร้างความมั่นคงและทำให้คนไทยมีพลังงานใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ที่สำคัญทุกคนจะมีความเข้าใจว่า ‘พลังงาน’ ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด เตรียมสร้างศูนย์การเรียนรู้ เพิ่มอีก 2 แห่ง ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่   

ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้คนไทยใช้อย่างมีความสุขมาโดยตลอด ด้วยมีภารกิจในการผลิตและจัดหาพลังงาน แต่ขณะเดียวกันยังได้พัฒนา ‘สังคมแห่งภูมิปัญญา’ ที่คนไทยทุกคนจะสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ทางด้านพลังงานอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม

ด้วยความตั้งใจสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตามเจตนารมณ์นี้ จึงได้เปิด ‘ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.’ เพื่อแบ่งปันความรู้เรื่องพลังงานไฟฟ้าสู่สังคม และสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของพลังงานไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบัน ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ได้เปิดให้บริการแล้ว 6 แห่งทั่วประเทศไทย ที่สามารถเข้าชมได้ฟรี และแต่ละแห่งต่างก็มีจุดเด่นและความน่าสนใจที่แตกต่างกัน เรามาทำความรู้จักศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทั้ง 6 แห่ง ดังนี้

- Advertisment -

1 ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี ตั้งอยู่เชิงสะพานพระราม 7 โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการจัดนิทรรศการ สื่อการเรียนรู้ ตลอดจนเกมที่มีความแปลกใหม่และสร้างสรรค์ ศูนย์แห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘นิทรรศการพลังงานไฟฟ้าที่ใหญ่ และทันสมัยที่สุดในประเทศไทย’ และในอนาคตจะพัฒนาให้กลายเป็น ‘EGAT Energy Excellence Center’ ที่สามารถบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ของตัวเอง โดยใช้พลังงานหมุนเวียนร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน ควบคู่กับการนำระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Microgrid) มาใช้ เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัยและครบเครื่องเรื่องพลังงาน

นอกจากนี้ ยังมีมาสคอตประจำศูนย์ Power และ Happy ที่จะมาช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้อย่างสนุกสนานไปกับการผจญภัยในโลกพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งกิจกรรมสนุกๆ ให้เข้าร่วมได้ตลอดทั้งปี

2 ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จ.นครราชสีมา จุดเด่นของศูนย์ฯ แห่งนี้ คือ การเรียนรู้ด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงนวัตกรรมด้านพลังงานต่าง ๆ ทั้งยังเติมเต็มความรู้เรื่องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานประเภทอื่น ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ โครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้า และเทคโนโลยี Wind Hydrogen Hybrid ที่มีอยู่ ทำให้พื้นที่ลำตะคองมีศักยภาพด้านพลังงานสะอาดอย่างสูง

อีกสิ่งที่น่าสนใจสำหรับการมาเที่ยวศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ คือแสงสีเสียงภายในอาคารจัดได้อลังการงามตา และยังอยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวอย่างอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ที่สามารถปั่นจักรยาน ชมวิวลำตะคองในมุมสูงพร้อมวิวกังหันลมยักษ์ที่เรียงรายเป็นแถว คุ้มค่ากับการเดินทางมาอย่างแน่นอน

3 พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา (เหมืองแม่เมาะ) เฉลิมพระเกียรติฯ จ.ลำปาง เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงไฟฟ้าที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน มีเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าคือ ‘ถ่านหิน’ จากเหมืองแม่เมาะ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงมุ่งนำเสนอถึงความสำคัญของพลังงานจากถ่านหินที่มีต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ สร้างความเข้าใจถึงกระบวนการผลิตไฟฟ้า และมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมถึงการดูแลและพัฒนาชุมชน ให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ที่สำคัญยังจะได้ถ่ายรูปกับทีเร็กซ์ และรถยักษ์ที่ใช้ในการทำเหมือง ด้วย

4 ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน ภายในศูนย์จะบอกเล่าถึงวิถีชีวิตชาวชุมชนทับสะแก และภาพในอนาคตที่ชาวทับสะแกอยากให้เกิดขึ้น เรียกว่าได้ทั้งความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้า ไปพร้อมกับการเรียนรู้วิถีชุมชนดั้งเดิมของชาวบ้านทับสะแก และไม่ควรพลาด หอคอยจุดชมวิวเพื่อชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก ที่ได้รวบรวมเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ชนิด มาไว้ที่นี่

5 ศูนย์การเรียนรู้ราชานุรักษ์ กฟผ. เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ด้วยแรงบันดาลใจจากพระราชปณิธานงานอนุรักษ์ทรัพยากรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กฟผ.จึงเปิดศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ โดยมุ่งนำเสนอความสำคัญของพื้นที่บริเวณเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก อันเป็นป่าธรรมชาติผืนใหญ่แห่งสุดท้ายของประเทศ และสร้างความตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานจากธรรมชาติ

6 ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จะนะ จ.สงขลา นับเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านพลังงานแห่งแรกของภาคใต้ บอกเล่าประวัติและที่มาของพลังงานไฟฟ้าที่เราใช้กันตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคต รวมถึงเรื่องราวของชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะชาวอำเภอจะนะ จ.สงขลา โดยเทคโนโลยีที่ใช้นำเสนอเรื่องราวและข้อมูลต่าง ๆ ของศูนย์ฯ แห่งนี้ นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์ และเยอรมนี จึงเป็นศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. อีกแห่งที่ไม่ควรพลาด

ในอนาคต กฟผ. มีแผนจะก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ เพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ผาบ่อง จ.แม่ฮ่องสอน และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ด้านพลังงาน และได้ร่วมเรียนรู้ว่า ‘พลังงาน’ เป็นเรื่องใกล้ตัวและไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด และพร้อมแบ่งปันความรู้ด้านพลังงานให้แก่คนไทยทุกคน

Advertisment