เปิดมติ กพช.ปรับแนวทางการจัดการก๊าซฯแบบ Single Pool บีบลดค่าไฟ 11.5 สตางค์ต่อหน่วย

2758
- Advertisment-

เปิดมติ กพช. 19 ธันวาคม 2566 เห็นชอบแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ แบบ Single Pool ที่ทำให้ค่าไฟฟ้างวด ม.ค.-เม.ย. 2567 ลดลง 11.5 สตางค์ต่อหน่วย โดยที่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ กลายเป็นผู้ที่ต้องแบกรับต้นทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งนโยบายรัฐดังกล่าวไม่ส่งเสริมให้เกิดการแยกก๊าซเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรของประเทศ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC ) เปิดเผยถึงมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ซึ่งไม่ได้มีการแถลงข่าวผลการประชุมให้สื่อมวลชนรับทราบอย่างเป็นทางการ ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ โดยปรับให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เป็นราคา Pool Gas (ราคาเฉลี่ยรวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ ) ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่นำไปใช้ในการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับ ราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (Gulf Gas)  ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป จนกว่าการจัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 จะแล้วเสร็จ และได้รับความเห็นชอบจาก กพช.  และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและกระทรวงพลังงานรับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

โดยในสาระสำคัญของแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นำเสนอและที่ประชุม กพช.มีมติเห็นชอบนั้น เรียกว่า Single Pool โดยนำปริมาณก๊าซธรรมชาติจัดหาได้จาก 3 แหล่งคือ (1) ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ยกเว้นส่วนที่ เข้าโรงแยกก๊าซฯ เพื่อนำไปผลิตเป็น LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง (2) ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา (3) ก๊าซ ธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้าด้วยสัญญาระยะยาวในปัจจุบันและ LNG Spot ปริมาณรวมเท่ากับ 4,272 MMSCFD มาคิดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักกับราคาก๊าซฯ แต่ละแหล่ง – ทำให้ราคา Pool Gas เท่ากับ 362 บาทต่อล้านบีทียู  ซึ่งต่ำลงจากแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติที่ใช้อยู่เดิม ซึ่งอยู่ที่ 387 บาทต่อล้านบีทียู  หรือ ลดลง 25 บาทต่อล้านบีทียู  โดย ราคา Pool Gas ตามแนวทางใหม่ จะใช้เป็นราคาเดียวกันทั้ง โรงแยกก๊าซธรรมชาติ (ไม่รวมส่วนที่นำไปผลิต LPG ภาคเชื้อเพลิง) ภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง (NGV)  ส่วน ราคาLPG ภาคเชื้อเพลิงยังใช้ราคาก๊าซจากอ่าวไทยที่ 219 บาท/ล้านบีทียู ( ข้อมูลตัวเลข ตามประมาณการณ์ ค่าเอฟทีรอบ ม.ค.-เม.ย. 2567 )

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติใหม่ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง ที่เดิมต้องซื้อก๊าซจากโรงแยกก๊าซในราคา 387 บาทต่อล้านบีทียู  จะได้ใช้ก๊าซธรรมชาติในราคา Pool Gas ที่ถูกลงเหลือ 362 บาทต่อล้านบีทียู  และประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าที่จะได้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูกลง ประมาณ 11.5 สตางค์ต่อหน่วย  โดยกลุ่มโรงไฟฟ้าจะมีต้นทุนที่ลดลงมากที่สุดประมาณ 8.2 พันล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มอุตสาหกรรม ที่จะมีต้นทุนลดลงประมาณ 3.2 พันล้านบาท

ในขณะที่ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบคือ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่จะต้องซื้อก๊าซตามราคา Pool  Gas ซึ่งอยู่ที่ 362 บาทต่อล้านบีทียู จากเดิมที่ซื้อในราคาก๊าซอ่าวไทย ที่ 219 บาทต่อล้านทียู หรือคิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 1.09 หมื่นล้านบาทเช่นเดียวกับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จะต้องซื้อก๊าซธรรมชาติในราคา 362 บาทต่อล้านบีทียู  จากเดิมที่ได้ใช้ในราคาก๊าซจากอ่าวไทย ที่ 219 บาทต่อล้านบีทียู

แหล่งข่าวจากวงการพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมารัฐมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ที่เรียกว่า Wet Gas  ซึ่งมีองค์ประกอบในเนื้อก๊าซที่สามารถแยกไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ แทนที่จะนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าที่ให้มูลค่าเพิ่มต่ำกว่า จึงสนับสนุนให้ ปตท. มีการลงทุนก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติขึ้น  ซึ่งที่ผ่านมาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง  เพิ่มการจ้างงาน และสร้างรายได้จากการจัดเก็บภาษีให้กับรัฐ รวมทั้งลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกจากต่างประเทศ   มติ กพช.ที่เห็นชอบแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติล่าสุดที่ให้โรงแยกก๊าซแบกรับภาระต้นทุนตามราคา Pool Gas  ในระยะสั้นอาจจะช่วยให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำลง  แต่ในระยะต่อไปมองได้ว่ารัฐบาลส่งสัญญาณว่าจะไม่นำก๊าซธรรมชาติมาสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง  ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีในประเทศอย่างไม่คุ้มค่า

Advertisment