เปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมบนบก ลดพึ่งพาการนำเข้า กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

935
- Advertisment-

ปัจจุบัน ความต้องการใช้ปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับปริมาณสำรองปิโตรเลียมในประเทศที่มีแนวโน้มลดลง ทำให้เราต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี ดังนั้น การเร่งสำรวจ ค้นหาและผลิตปิโตรเลียมในประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งภารกิจสำคัญนี้มีหน่วยงานหลักที่กำกับ ดูแล คือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ  (ชธ.) มีภารกิจหลักในการแสวงหาแหล่งพลังงานเชื้อเพลิง เพื่อประโยชน์ต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน และต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยการดำเนินงานหลักที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในหลายด้าน ทั้งด้านการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับประเทศจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม

สำหรับรายได้ที่รัฐได้รับจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมของเอกชน นอกจากจะนำส่งผ่านกระทรวงการคลัง เพื่อนำไปจัดสรรเป็นงบประมาณแผ่นดินแล้ว ยังมีการจัดสรรรายได้จากค่าภาคหลวงปิโตรเลียมจากพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมบนบกให้กับท้องถิ่นโดยตรงด้วย ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2558 – พฤษภาคม 2564 รัฐจัดเก็บรายได้จากค่าภาคหลวงทั้งประเทศไปแล้วทั้งสิ้น 877,811 ล้านบาท โดยค่าภาคหลวงปิโตรเลียมจะถูกจัดสรรไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลของจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ผลิตปิโตรเลียม ซึ่งจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการนำไปเป็นงบพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งกระจายไปยัง อบต. ในทุกจังหวัดที่อยู่นอกพื้นที่ผลิตทั่วประเทศ ตามสัดส่วนของประชากรอีกด้วย

- Advertisment -

ล่าสุด กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจบนบก หมายเลข L1/64 พื้นที่รวม 78.90 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ A มีพื้นที่ประมาณ 67.66 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ B มีพื้นที่ประมาณ 11.24 ตารางกิโลเมตร หรือเดิมคือแปลงสำรวจ NC ซึ่งได้สิ้นสุดระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564

โดยจากการศึกษาของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พบว่า พื้นที่ A ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ทางทิศเหนือของพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมแปลง NC ยังไม่เคยมีการผลิตปิโตรเลียมมาก่อน และมีลักษณะทางธรณีวิทยาที่คล้ายคลึงกับพื้นที่ผลิต NC คาดว่ามีโอกาสที่จะพบปิโตรเลียม จึงเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ทางทิศเหนือของพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมแปลง NC พร้อมกับพื้นที่ B ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยมีการผลิตปิโตรเลียมมาก่อน นับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสในการสำรวจและค้นพบปิโตรเลียมในพื้นที่ใหม่เพิ่มเติม เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา แหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวสามารถผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 400 บาร์เรลต่อวัน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จึงเห็นว่าหากเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นการสร้างความต่อเนื่องในการจัดหาปิโตรเลียม ช่วยให้เกิดการสร้างงาน เกิดการจัดสรรรายได้แก่ท้องถิ่นเพื่อนำไปพัฒนาในด้านต่าง ๆ สร้างรายได้ให้กับประเทศ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในยามวิกฤตได้อีกทางหนึ่ง

Advertisment