เปิดบัญชีโครงการได้งบกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ หน่วยงานในกระทรวงพลังงาน ,เชียงใหม่ ,ขอนแก่น, สุพรรณบุรี ติดอันดับได้งบเยอะสุด

2749
- Advertisment-

เปิดบัญชีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ  2563  จำนวน  344 โครงการ  หน่วยงานในกำกับดูแลกระทรวงพลังงาน  ได้วงเงินรวมกว่า 600 ล้านบาท ในขณะที่เชียงใหม่  ขอนแก่น   สุพรรณบุรี  มหาสารคาม   ร้อยเอ็ด  ชัยภูมิ  ติดอันดับจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ มากที่สุด  โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติส่วนใหญ่ เป็นโครงการเดี่ยว คือการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์  ทั้งเพื่อการเกษตร และ บ่อน้ำบาดาล  โดยทิ้งคอนเซ็ปต์การสร้างมูลค่าเพิ่มและความยั่งยืนของโครงการ แบบต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ที่เคยตั้งเกณฑ์ไว้ตั้งแต่ต้น

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy  News  Center –ENC ) รายงานว่า ทางสำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้เปิดเผย บัญชีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ  2563  ตามราคากลางที่ตั้งไว้  จำนวน  344 โครงการ   ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า โครงการส่วนใหญ่ที่ได้รับการอนุมัตินั้น เป็นโครงการที่นำเสนอผ่านพลังงานจังหวัด  ในขณะที่โครงการที่นำเสนอโดยตรงผ่าน สำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ตามที่ระเบียบเปิดช่องทางไว้ให้นั้นแทบไม่ได้รับการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานเลย   โดยก่อนหน้านี้ก็มีบางเครือข่ายวิสาหกิจ ที่ยื่นเสนอโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ  แต่ไม่ได้รับการพิจารณาจัดสรรงบ เดินทางมายื่นหนังสือให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผ่าน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายกวิน ทังสุพานิช  และนายธนทัช  จังพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่กระทรวงพลังงาน  เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการ

ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า โครงการที่ได้รับการอนุมัติส่วนใหญ่ เป็นโครงการเดี่ยว คือการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์  ทั้งเพื่อการเกษตร และ บ่อน้ำบาดาล เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง   โดยทิ้งคอนเซ็ปต์การสร้างมูลค่าเพิ่มและความยั่งยืนของโครงการ แบบต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยให้เป็นนโยบายไว้ตั้งแต่ต้น     โดยปัญหาของโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์  ทั้งเพื่อการเกษตร และ บ่อน้ำบาดาล ที่เคยได้รับอนุมัติงบจากกองทุนฯไปในปีก่อนหน้านี้ คือ   ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานระยะสั้นประมาณ 6เดือนถึง 1 ปี อุปกรณ์สำคัญคืออินเวอร์เตอร์ จะเสื่อมประสิทธิภาพ ต้องมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง  แต่ผู้ที่ยื่นขอโครงการไม่มีงบที่จะดำเนินการ จึงปล่อยทิ้งไว้ และไม่สามารถใช้งานได้  จึงไม่มีความคุ้มทุนของโครงการ จากที่คิดว่า พลังงานจากแสงอาทิตย์ จะมาช่วยทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากระบบสายส่ง  หรือน้ำมันเชื้อเพลิง   โดยงบประมาณของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในแต่ละปีนั้น มาจากการจัดเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันลิตรละ 10 สตางค์

- Advertisment -
ภาพตัวอย่างโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร

สำหรับโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ  2563  จำนวน  344 โครงการ  นั้น ที่น่าสนใจคือ การจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน  วงเงิน 624 ล้านบาท ประกอบด้วย

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้รับจัดสรร 10 โครงการ รวมวงเงิน 480 ล้านบาท  โครงการที่สำคัญอาทิ  โครงการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในเขตพระราชฐานระยะที่ 6  ,โครงการ Thailand  Energy  Awards 2020 ,โครงการกำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงานตามกฏหมายสำหรับควบคุมโรงงาน , โครงการสื่อสารสร้างการรับรู้ตามนโยบายส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน  ได้รับการจัดสรร 4 โครงการ วงเงินรวม  84.9 ล้านบาท มีโครงการที่สำคัญคือ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์บริการข้อมูลด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเคลื่อนที่ ( Energy Mobile Unit ) โครงการลดการใช้พลังงานในภาครัฐปีงบประมาณ 2563-2564 ส่วนที่ 2  โครงการสร้างความรู้ความเข้าใจข้อมูลพลังงานปี 2563

-สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้รับการจัดสรร 4 โครงการ รวมวงเงิน  42.7 ล้านบาท โครงการที่สำคัญอาทิ  โครงการบริหารและสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานบนสื่อออนไลน์  โครงการบริหารสื่อสารเชิงกลยุทธ์ ด้านนโยบายพลังงาน  โครงการลดการใช้พลังงานในภาครัฐปีงบประมาณ 2563-2564 ส่วนที่ 1

-กรมธุรกิจพลังงาน ได้รับการจัดสรร 1 โครงการ วงเงิน  17 ล้านบาท คือ โครงการ ประชาสัมพันธ์แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพประจำปี 2563

สำหรับการจัดสรรให้หน่วยงานอื่นๆที่น่าสนใจ ได้แก่

-จังหวัดขอนแก่น ได้รับจัดสรรให้โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์  จากแหล่งน้ำใต้ดิน (บ่อบาดาล)  ไป 8 โครงการ  รวมวงเงิน 68.6 ล้านบาท

-จังหวัดสุพรรณบุรี  ได้รับจัดสรรให้โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร  ไป 101 โครงการ วงเงินรวม  42.7 ล้านบาท

-จังหวัดมหาสารคาม ได้รับจัดสรรให้โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร   ไป 67 โครงการ  รวมวงเงิน  28.3 ล้านบาท   และโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จากแหล่งน้ำบาดาล ไปอีก 24 โครงการ รวมวงเงิน  14.7 ล้านบาท

-จังหวัดขัยภูมิ ได้รับจัดสรรให้โครงการ ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร  ไป 45 โครงการ รวมวงเงิน  19  ล้านบาท

สำหรับ โครงการพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่ได้รับอนุมัติไป 41 โครงการ นั้น แบ่งกระจายไปในแต่ละจังหวัด  โดยเชียงใหม่ ได้วงเงินสูงสุด 106 ล้านบาท  ร้อยเอ็ด 36 ล้านบาท  กาญจนบุรี 18.4 ล้านบาท  นครนายก 9.6 ล้านบาท  อุตรดิตถ์ 7.3 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า  ในภาพรวมเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ 2563  คณะกรรมการฯ ได้มีมติอนุมัติโครงการ จำนวน 1,035 โครงการ คิดเป็นวงเงินที่ให้การสนับสนุน 2,066 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 แผนงาน คือ  แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อนุมัติทั้งหมด 16 โครงการ กรอบวงเงินสนับสนุน 535 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กลุ่มงานตามกฎหมาย จำนวน 4 โครงการ (2) กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย เพื่อการพัฒนาและส่งเสริม จำนวน 1 โครงการ (3) กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร จำนวน 5 โครงการ (4) กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร จำนวน 2 โครงการ และ (5) กลุ่มงานสนับสนุนลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งแบ่งเป็นโครงการพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก นโยบายพลังงานเพื่อทุกคน (Energy for all) จำนวน 2 โครงการ ซึ่งสนับสนุนในรูปแบบเงินก้อน (Block grant) และโครงการทั่วไป จำนวน 2 โครงการ

แผนพลังงานทดแทน อนุมัติทั้งหมด จำนวน 1,019 โครงการ กรอบวงเงินสนับสนุน 1,531ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย เพื่อการพัฒนาและส่งเสริม จำนวน1 โครงการ (2) กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร จำนวน 4 โครงการ และ (3) กลุ่มงานสนับสนุนลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มเศรษฐกิจฐานรากและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งเป็นโครงการ Energy for all จำนวน 41 โครงการ โดยสนับสนุนในรูปแบบ Block grant และโครงการทั่วไป ซึ่งมี 3 ประเภท คือ โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร จำนวน 968 โครงการ โครงการ ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 1 โครงการ โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับโรงเรียนในชนบท ประเภทไม่มีไฟฟ้า จำนวน 2 โครงการ และโครงการพระราชดำริ จำนวน 2 โครงการ

Advertisment