รัฐมนตรีพลังงาน เตรียมขยายเวลาตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ต่อจนถึงสิ้น ม.ค. 2565 เหตุราคา LPG โลกพุ่งไม่หยุดทะลุ 800 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน สูงสุดในรอบปี พร้อมมอบหมาย สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ขอสภาพัฒนฯใช้เงิน พ.ร.บ.เงินกู้ ดูแล LPG แทน หลังเงินบัญชี LPG ในกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใกล้เต็มกรอบ 18,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมแผนกู้เงินเติมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯหากมีความจำเป็น
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่ มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เดิม เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 กำหนดให้ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ไปจนถึง 31 ธ.ค. 2564 นั้น กระทรวงพลังงานจะเสนอ กบง. ในการประชุมครั้งต่อไปเร็วๆนี้ เพื่อขยายการช่วยเหลือตรึงราคา LPG ต่อไปจนถึงสิ้นเดือน ม.ค. 2565 แทน
เนื่องจากปัจจุบันราคา LPG ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นถึงระดับ 800 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน (สูงสุดในรอบปี 2564) ซึ่งประชาชนอาจได้รับผลกระทบจากราคา LPG โลกที่ปรับสูงขึ้น และเป็นการช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายด้วย และเมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ทางกระทรวงพลังงานอาจพิจารณาปรับขึ้นราคาบางส่วนต่อไป
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับเงินที่จะนำมาตรึงราคา LPG นั้น ปัจจุบันยังใช้เงินจากบัญชี LPG ที่อยู่ในกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งกำหนดกรอบวงเงินไม่ให้ใช้เกิน 18,000 ล้านบาท (ปัจจุบันใช้ไปแล้ว 17,431 ล้านบาท และเหลือเพียง 569 ล้านบาท ) และขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.)ไปขอใช้เงิน พ.ร.บ.เงินกู้จากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) เพื่อมาดูแลราคา LPG แทน ส่วนเงินกองทุนฯจะเก็บไว้ดูแลราคาน้ำมันเป็นการเฉพาะในช่วงนี้
อย่างไรก็ตามทาง สกนช. ได้เตรียมพร้อมเรื่องการกู้เงินเข้ากองทุนฯ ไว้ด้วย หากสภาพัฒนฯ ไม่อนุมัติ ซึ่งตามกฎหมาย สกนช.ขอกู้เงินได้ครั้งละไม่เกิน 20,000 ล้านบาท และกองทุนฯจะต้องมีเงินรวมไม่เกิน 40,000 ล้านบาท
โดย ณ วันที่ 26 ก.ย. 2564 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเหลือเงินสุทธิ 11,441 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินในบัญชีน้ำมัน 28,872 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 17,431 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีเงินไหลออกรวม 2,237 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินไหลออกจากการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ 758 ล้านบาท และเงินไหลออกจากการดูแลราคา LPG จำนวน 1,480 ล้านบาท ซึ่งเงินกองทุนน้ำมันฯ 11,441 ล้านบาท คาดว่าจะดูแลราคาพลังงานได้ถึง มี.ค. 2565 เท่านั้น
นอกจากนี้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โลกได้ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งการนำเข้า LNG อาจกระทบต่อค่าไฟฟ้าประชาชนได้ ดังนั้นกระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปศึกษาแนวทางรองรับปัญหา โดยเฉพาะการเลือกพิจารณาให้โรงไฟฟ้าที่สามารถปรับเปลี่ยนจากระบบก๊าซธรรมชาติไปใช้เชื้อเพลิงอื่นแทน LNG ได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังมีเวลาศึกษาเนื่องจากกระทรวงพลังงานได้ตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ไว้จนถึงสิ้นปี 2564