รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังคงมีความเชื่อมั่นในโมเดล 4 D ว่าจะสามารถใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ก้าวข้ามพ้นวิกฤตโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ได้ โดยมีสัญญาณบวกหลายเรื่องที่ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยจะยังเติบโตต่อไปได้ดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในขณะที่บทบาทของกระทรวงพลังงานจะยังคงดูแลทั้งราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้มและไฟฟ้า ไม่ให้ขยับขึ้นสูงกว่าเพดานราคาที่กำหนด
ในการกล่าว ปาฐกถาพิเศษ “เปิดแผน..เดินหน้าเศรษฐกิจไทย” ในงานเสวนา Restart เศรษฐกิจไทยฝ่าภัยโควิด รูปแบบ Virtual Seminar ซึ่งจัดโดย กรุงเทพธุรกิจ และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้ให้เห็นว่า โมเดล 4 D (Digitalization, Decarbonization, Decentralization และ D-risk) ที่รัฐบาลใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่ประกาศไปเมื่อเดือนธันวาคม 2563 นั้น ผ่านมา 6 เดือน เริ่มมีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยจะก้าวข้ามพ้นจากวิกฤตโควิด-19 ได้ แม้ว่ารัฐจะมีมาตรการล็อกดาวน์ใน 10 จังหวัด ในขณะนี้ จนทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความวิตกกังวลอยู่ก็ตาม
นายสุพัฒนพงษ์ บอกว่า วันนี้ประเทศมีความชัดเจนในเรื่องของวัคซีน ว่าจะมีเข้ามาเท่าไหร่ และจะฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อย่างไร ทำให้มองเห็นปลายทางว่าจะสามารถเปิดประเทศได้อย่างแน่นอน
โดยตัวเลขการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศ ที่กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส แม้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/64 จะติดลบ 2.6% สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อมีวัคซีน อย่างไรเสียสถานการณ์โควิดก็ต้องคลี่คลาย นักลงทุนจึงตัดสินใจลงทุน
นอกจากนี้ ตัวเลขคำขอส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ 6 เดือนแรกของปีนี้ ได้รับทราบแล้วว่ามีจำนวนเกือบจะเท่ากับตัวเลขคำขอส่งเสริมการลงทุนของทั้งปี 2563 ดังนั้นตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้หลายๆ ตัวชี้วัด น่าจะดีกว่าปี 2563 และมีบางตัวที่น่าจะดีกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ยังไม่มีผลกระทบเรื่องของโควิด
สำหรับโมเดล 4 D ที่ประกาศใช้ผ่านมาแล้ว 6 เดือนนั้น รัฐบาลก็มีการดำเนินการในหลายเรื่องที่มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยในส่วนของ Digitalization คือ การส่งเสริมเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การลดกฎระเบียบ การพัฒนาศูนย์กลางข้อมูล (Data center) ให้มีความพร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทัล นั้นวันนี้มีนักลงทุนหลายรายแสดงความสนใจที่จะย้ายฐานการลงทุนมาที่ประเทศไทยแทนสิงคโปร์
ในเรื่อง Decarbonization หรือการมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะ นั้น คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติก็มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ที่เรียกว่า 30/30 คือการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้สัดส่วน 30% ของรถยนต์ที่ผลิตในประเทศภายในปี 2030 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า แต่จะมีการเร่งเป้าหมายให้เร็วขึ้นในปี 2025 ในเรื่องของการลงทุนโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า โรงงานผลิตแบตเตอรี่ การขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าและการวางระบบ Eco system เรื่องการให้สิทธิประโยชน์ แรงจูงใจที่เหมาะสม เพื่อดึงนักลงทุนรายใหญ่ระดับโลก 7-8 รายที่รู้จักกันดีให้ย้ายฐานการลงทุนมาที่ประเทศไทย ที่ตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค
ในส่วนของการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำหรือเป็นศูนย์นั้น ในแผนการผลิตไฟฟ้าจะเน้นไปที่พลังงานสะอาด ซึ่งได้มีการหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะร่วมกันกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุดในปี 2030-2035 ที่ในเดือน พ.ย. นี้ ไทยจะไปประกาศเป้าหมายในเวทีการประชุม COP26
ทั้งนี้ การประกาศความพร้อมที่จะเป็นประเทศสังคมคาร์บอนต่ำ จะช่วยให้ไทยได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน เทคโนโลยี่ และการลงทุนจากกลุ่มประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า
ในเรื่อง Decentralization คือ การเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อดึงฐานการผลิตของบริษัทและอุตสาหกรรมชั้นนำที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ใช้แรงงานไม่มาก ซึ่งจะเป็นเป้าหมายใหม่ ให้ย้ายฐานการลงทุนเข้ามายังประเทศไทย
โดยจุดแข็งหนึ่งที่สำคัญของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ ตลอด 6 ปีคือความต่อเนื่องในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่ใช้เงินลงทุนไปกว่า 1.2 ล้านล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านที่จะดึงดูดนักลงทุนให้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต
ส่วนโมเดลสุดท้าย D-risk คือ ดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติ เป็นนักธุรกิจที่มีฐานะดี หรือเป็นผู้เกษียณอายุ แต่มีรายได้ที่ดี หรือคนเก่งที่มีความรู้ความสามารถ มาท่องเที่ยวและซื้ออสังหาริมทรัพย์และอยู่อาศัยระยะยาวในไทยเหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง โดยกลุ่มนี้มีกำลังจะใช้จ่ายเงินได้มากกว่านักท่องเที่ยวปกติ หากดึงเข้ามาได้ 1 ล้านคน แต่ละคนใช้จ่ายเงิน 2 แสนบาทต่อปี การท่องเที่ยวลักษณะนี้ ก็จะทำให้เงินไหลเข้าประเทศ ได้ 2 แสนล้านบาทต่อปี
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การขับเคลื่อนโมเดล 4 D โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีวัคซีนที่เป็นความหวังว่าจะทำให้วิกฤตโควิดคลี่คลายลงได้ในที่สุด จะสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนว่าเศรษฐกิจไทยจะยังเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว
ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงพลังงานในการ Restart เศรษฐกิจไทยฝ่าภัยโควิด ว่า ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึง LPG ที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นนั้น กระทรวงพลังงานยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถดูแลราคาพลังงานในประเทศไม่ให้ขยับสูงเกินกว่าเพดานที่กำหนดคือ ดีเซล ไม่เกินลิตรละ 30 บาทได้ โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังคงมีเงินเหลือพอที่จะนำมาใช้พยุงราคาไปได้ ซึ่งราคาดีเซล ณ วันที่ 15 ก.ค.64 ยังอยู่ที่ลิตรละ 26.29 บาท
ส่วนราคาก๊าซหุงต้ม หรือ LPG รัฐก็ยังตรึงราคาเอาไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการตรึงราคามาตั้งแต่เดือน เม.ย.63 แล้ว ส่วนค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที ที่ถึงแม้ราคาเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ผลิตไฟฟ้า คือ ก๊าซธรรมชาติจะขยับสูงตามราคาน้ำมัน แต่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ. ก็ยังมีการตรึงค่าเอฟที เอาไว้ระดับเดิมได้ตลอดทั้งปี 64
ในขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การรีสตาร์ทประเทศไทยในวันนี้ ต้องเร่งตรวจเพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ที่ไม่ติดให้ได้โดยเร็ว เพื่อไม่ให้มีการกลับมาระบาดใหม่ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถที่จะเดินหน้าได้ โดยหากมีการวนลูปกลับมา เปิดแล้วต้องล็อกดาวน์อีก อุตสาหกรรมขนาดเล็กและอุตสาหกรรมขนาดกลางก็จะลำบากมากขึ้น เพราะขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมที่ยังพอไปได้ คืออุตสาหกรรมเพื่อส่งออก
สำหรับแนวทางเฉพาะหน้าที่จะช่วยเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาขณะนี้คือการช่วยให้ เข้าถึงสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟท์โลน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีเดินหน้าไปต่อได้
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท). กล่าวอัพเดท ความคืบหน้าโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ที่เริ่มเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ทั้งมิติด้านการตลาดและความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี โดยช่วง 14 วันแรก (1-14 ก.ค.) มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเดินทางเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์สะสม 5,473 คน หากเทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาซึ่งมี 6,052 คน ถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ และ ล่าสุด สิงคโปร์แอร์ไลน์กำลังจะเพิ่มเที่ยวบินเส้นทาง สิงคโปร์-ภูเก็ต เป็น 2 เที่ยวบินต่อวัน เริ่มวันที่ 19 ก.ค. นี้
–