เชฟรอนเดินหน้าโครงการ “รวมพลังตามรอยพ่อฯ” ปี 7 มุ่งฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสัก จ.เลย

583
- Advertisment-

เชฟรอนฯ ร่วมขับเคลื่อนโครงการ “รวมพลังตามรอยพ่อฯ” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 สานต่อศาสตร์พระราชา เดินเครื่องฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสัก จังหวัดเลย หวังเชื่อมโยงการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติใน 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศอย่างเป็นเอกภาพ รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่ป่า และส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรในพื้นที่ 

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในงานแถลงข่าวเปิดโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 7 ซึ่งบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด “แตกตัวทั่วไทย สานพลังสามัคคี” ขยายผลสู่พื้นที่ อ.ภูหลวง จ.เลย ร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำแถบเทือกเขาเพชรบูรณ์แหล่งกำเนิดแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำสำคัญหลายสายที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยในภาคกลาง และชาวอีสานตอนบน

รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การดำเนินการในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ทำให้โครงการขยายตัวไปอย่างมาก ถือเป็นการขยายตัวในเชิงนโยบายไปถึงระดับชาติและระดับโลก และตรงกับเป้าหมายในปีที่ 7 ของโครงการฯ โดยได้รับความร่วมมือจาก 7 ภาคีที่ร่วมขับเคลื่อน ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา และสื่อมวลชน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน วางรากฐานการพัฒนามนุษย์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติระดับลุ่มน้ำ และเพื่อเชื่อมโยง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศอย่างเป็นเอกภาพ

- Advertisment -

ด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เชฟรอนได้ร่วมเป็นแกนนำภาคเอกชนทั้งพนักงานของเชฟรอนและพันธมิตรร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างชัดเจน และพิสูจน์ว่าการประยุกต์ ‘ศาสตร์พระราชา’ ทั้งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ มาใช้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถพลิกฟื้นพื้นที่แห้งแล้งให้กลับเขียวขจี ทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นจริง ปลดหนี้ได้ ที่สำคัญยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และคาดหวังว่าจะเห็นการขยายตัวจนครบทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ

“โครงการนี้มีแนวคิดสอดคล้องกับโครงการเพื่อสังคมของเชฟรอน ที่มุ่งเน้นการสร้างคน องค์ความรู้ และจิตสำนึก และสนับสนุนนโยบายด้านสังคมทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านการศึกษาด้วยการเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาสู่การลงมือปฏิบัติ ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ที่ช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้แก่ การช่วยฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า และด้านการส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคม ขณะเดียวกัน ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ขององค์การสหประชาชาติหลายข้อจาก 17 ข้อ ที่มุ่งเน้นการลดความหิวโหย จากการสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยและมั่นคงในพื้นที่ของตัวเอง รวมถึงขจัดความยากจน ที่สอนให้รู้จักพึ่งพาตนเองและดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มจากการพอมี พอกิน พอใช้ ซึ่งเป็นขั้นพื้นฐานของการพัฒนาอย่างมั่นคง” นายอาทิตย์ กล่าว

ขณะที่ นายไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และตัวแทนสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เครือข่ายภาควิชาการ กล่าวว่า มูลนิธิฯ ยังคงใช้กลยุทธ์การ ‘เอามื้อสามัคคี’ หรือการลงแขกตามประเพณีดั้งเดิมของคนไทยมาเป็นกลวิธีในการขับเคลื่อน และขยายผลให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศตามเป้าหมาย โดยขณะนี้ เข้าสู่การดำเนินงานในระยะที่ 3 จะขยายฐานในวงกว้างพร้อมกับสร้างความเข้มแข็งในเชิงลึก โดยสานพลังสามัคคี พัฒนามนุษย์ และฟื้นฟูลุ่มน้ำไปพร้อมกับเร่งสร้างผู้นำเพื่อเป็นแม่ทัพในลุ่มน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งมีทีมงานของมูลนิธิฯ ลงพื้นที่มากขึ้น เพื่อดูว่าศูนย์เรียนรู้ต่าง ๆ ที่สร้างไว้ติดขัดหรือต้องการความช่วยเหลืออย่างไร เพื่อให้มีความพร้อมเป็นพลังเสริมความสามัคคีเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและขยายผลไปสู่ทุกลุ่มน้ำได้อย่างเข้มแข็ง และพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

สำหรับกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี”เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสัก ที่ อ.ภูหลวง จ.เลย นั้น นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวในฐานะเจ้าบ้านว่า จังหวัดเลยตั้งอยู่ทางตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา จึงเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ต้นน้ำเลย ลำน้ำพุง ลำน้ำพอง และแม่น้ำเหือง มีเนื้อที่ทั้งหมด 6,562,289 ไร่ มีสภาพป่าคงเหลือ 2,119,436 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 32.30 ของพื้นที่ แนวโน้มในการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของพื้นที่ป่ามีลักษณะคงที่ สะท้อนว่าไม่มีการบุกรุกพื้นที่แปลงใหญ่เพิ่มขึ้น ดังนั้นหากส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้ในพื้นที่ของตนเองในลักษณะปลูกสวนป่าเพื่อเศรษฐกิจ จะทำให้ จ.เลย มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นได้ และช่วยส่งเสริมอาชีพให้ราษฎรได้อีกทางหนึ่ง

กิจกรรมครั้งนี้ จังหวัดได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย ร่วมกับ อ.ภูหลวง อบต.เลยวังไสย์ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลย.9 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และเจ้าหน้าที่มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ร่วมกันตรวจสอบเพื่อจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีในแปลงที่ดินของ นายแสวง ดาปะ บ้านศรีเจริญ ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่ระหว่างป่าภูหลวง และป่าภูหอ ที่กรมป่าไม้ได้มอบให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดูแล

นอกจากนี้ จะจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยกิจกรรมปั่นจักยานรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ในวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ซึ่งขบวนจักรยานจะออกจาก อ.เมืองเลย ถึง อ.วังสะพุง รวมระยะทางประมาณ 45 กม.

อีกหนึ่งภาคีเครือข่ายภาควิชาการ คือ สจล. โดย ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล รักษาการผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล. กล่าวถึงความคืบหน้า “โครงการวิจัย การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย การติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำและชุมชนอย่างมีส่วนร่วม” ของศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล. (ITOKmitl) ซึ่งลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูล รวมทั้งออกแบบและปรับปรุงการพัฒนาพื้นที่ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ สามารถนำฐานข้อมูลมาประมวลผลในมิติต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม โดยมีพื้นที่วิจัยอยู่ใน 3 จังหวัด คือ อ. นาเรียง จ.อุดรธานี  อ.แม่ระมาด จ.ตาก และ อ.แม่ฮ่าง จ.ลำปาง จำนวน 30 ราย รวม 300 ไร่ แต่เนื่องจากมีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก จึงขยายพื้นที่วิจัยเป็น 40 ราย 400 ไร่ ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ได้ส่งข้อมูลเรื่องดินบางส่วนจาก 200 กว่าตัวอย่างใน 3 พื้นที่ให้แก่กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งสามารถวัดได้ละเอียดกว่า และได้รับผลตรวจกลับมาแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ขั้นตอนต่อไป คือนำข้อมูลทั้งหมดมาสรุปเป็นผลวิจัย คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาอีกระยะ

“นอกจากผลวิจัยที่เป็นตัวเลขสถิติ เราสามารถวัดความสำเร็จของโครงการฯ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างคน เช่น ที่ อ.นาเรียง จ.อุดรธานี เครือข่ายเปิดศูนย์ฝึกและอบรมคนไปแล้ว 3 รุ่นๆ ละ 100 คน รวม 300 คน ที่ห้วยกระทิง แม่ระมาด จ.ตาก เครือข่ายเปิดศูนย์ฝึกและอบรมไปแล้ว 2 รุ่น ส่วนที่แม่ฮ่าง จ.ลำปาง แม้จะไม่ได้เปิดศูนย์ฝึก แต่มีความสำเร็จในรายบุคคล นอกจากนี้ เครือข่ายยังตระเวนสอนการออกแบบพื้นที่ในหลายจังหวัด เช่น จ.น่าน จ.พะเยา จ.แพร่ จ.สุโขทัย แม้จะใช้มาตรฐานเดียวกันในการวัดความสำเร็จของทั้ง 3 พื้นที่ไม่ได้ เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบททางสังคมต่างกัน แต่ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ” ผศ.พิเชฐ กล่าว

ทั้งนี้ โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” มุ่งเน้นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักเห็นความสำคัญ และเห็นผลจริงในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนพร้อมกับการแก้ปัญหาดิน น้ำ ป่า คน และหยุดท่วม-หยุดแล้งในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน โดยการนำศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย ไปลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

Advertisment