เชฟรอนเดินหน้าขยายการลงทุนสำรวจผลิตปิโตรเลียม หวังสร้างความมั่นคงทางพลังงานระยะยาวให้ไทย

664
- Advertisment-

เชฟรอนเดินหน้าลงทุนสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในไทย​ และช่วยลดต้นทุนราคาพลังงานให้ประชาชน โดยจะมีการเริ่มต้นลงทุนการสำรวจในแปลง​ G2/65​ ที่เพิ่งมีการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ​ เมื่อวันที่​ 30​ พฤษภาคม​ 2566​ ที่ผ่านมา​ และจะมีการขยายการลงทุนเพิ่มเติมในแหล่งไพลิน ( B12/27​ ) ที่อยู่ระหว่างการยื่นขอขยายสัมปทานการผลิตอีก​ 10​ ปี​ พร้อมแนะภาครัฐเจรจาผลักดันพื้นที่​ OCA​ ไทย​-กัมพูชา

นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด​ ให้สัมภาษ​ณ์สื่อมวลชน​ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นที่จะขยายการลงทุนด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย​ โดยชี้ให้เห็นว่า​ การผลิตปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นในประเทศ​ ที่จะได้ทั้งก๊าซธรรมชาติ​  น้ำมันดิบ​ และคอนเดนเสท​ ซึ่งมีราคาถูกกว่า​ก๊าซธรรมชาติเหลว​ หรือ​ LNG​ ที่นำเข้า​จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่กำลังเผชิญปัญหาพลังงานราคาแพง​ โดยที่รัฐยังได้ประโยชน์จากทั้งภาษีและค่าภาคหลวง นอกจากนี้ก๊าซธรรมชาติยังเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ​ ซึ่งจะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายลดการปลดปล่อยคาร์บอนตามที่ได้ประกาศไว้อีกด้วย

นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

- Advertisment -

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเป้าหมายบรรลุ Nationally Determined Contributions (NDC) ในปี 2030 เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065

โดยเมื่อวันที่​ 30​ พฤษภาคม​ 2566​ ที่ผ่านมา​ ทางบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) ในฐานะเป็นผู้ได้รับสิทธิตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ขนาดพื้นที่ 15,030.14 ตารางกิโลเมตรได้มีการลงนามในสัญญาร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ​ 

รณรงค์ ชาญเลขา ผู้จัดการใหญ่​ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65​ เมื่อวันที่​ 30​ พ.ค.​2566​ ที่ผ่านมา

นายชาทิตย์​ กล่าวว่า​ แปลงสำรวจดังกล่าวมีศักยภาพที่จะพบก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่​ และบางส่วนเป็นน้ำมันดิบ​ โดยเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับแหล่งไพลิน​ ที่บริษัทดำเนินการผลิตปิโตรเลียมอยู่ในปัจจุบัน​  โดยหลังจากที่มีการลงนามในสัญญาแล้ว​ จะเริ่มดำเนินการสํารวจวัดคลื่นไหวสะเทือน​ หรือ Seismic​ Survey​  เพื่อศึกษาถึงโครงสร้างทางธรณีวิทยาหาความเป็นไปได้ที่จะพบปิโตรเลียม​อย่างละเอียด​ และลงทุนเจาะหลุมสำรวจ​ 2​ หลุม​ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการภายใน 6​ ปี​ โดยหากพบว่ามีศักยภาพที่จะผลิตขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์  ก็จะมีการลงทุนเพื่อพัฒนาเป็นหลุมผลิตต่อไป​ ซึ่งปิโตรเลียมที่ผลิตได้จากแหล่งใหม่ดังกล่าว​จะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศในอนาคต

ในขณะที่การผลิตในปัจจุบัน เชฟรอนเป็นโอเปอเรเตอร์ในแหล่งไพลิน​และ​ไพลินเหนือ​ ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ที่​ 420-450  ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวัน​ ซึ่งแหล่งดังกล่าวจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2571 และบริษัทอยู่ระหว่างการยื่นขอขยายสัมปทานการผลิต (Production​ Period​ Extension -​PPE)​ ต่ออีก​ 10​ ปี​ ตามเงื่อนไข​ของสัญญา โดยหากได้รับความเห็นชอบจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ​ กระทรวงพลังงาน​ ก็มีแผนที่จะขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น​ในแหล่งดังกล่าว​ ส่วนแหล่งผลิตปิโตรเลียมเบญจมาศ (B8/32) ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงของการ Shutdown​ 

​-

สำหรับโอกาสในการแสวงหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ที่มีศักยภาพเพิ่มเติมเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศในระยะยาวนั้น​ นายชาทิตย์​ หวังให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งดำเนินการเจรจากับรัฐบาลประเทศกัมพูชาในการผลักดันพัฒนาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claimed Area-OCA) และหาแนวทางร่วมกันพัฒนาพื้นที่ OCA เพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติร่วมกัน โดยหากได้ข้อยุติที่สามารถเริ่มเข้าไปดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ได้​ ทางเชฟรอน ซึ่งมีใบอนุญาตในการสำรวจ (License) อยู่ในแปลงของพื้นที่ OCA อยู่แล้ว ก็พร้อมที่จะดำเนินการ

“ปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าแอลเอ็นจีจากต่างประเทศซึ่งมีราคาที่แพงกว่าก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศ​ ทำให้ที่ผ่านมาประสบปัญหาวิกฤติราคาพลังงาน ดังนั้น การผลักดันให้มีการแสวงหาปิโตรเลียมในประเทศจากแหล่งใหม่​ จะช่วยลดการนำเข้า​แอลเอ็นจี ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบราคาพลังงาน และเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศได้ในระยะยาว​ ซึ่งเชฟรอนมีความพร้อมที่จะเดินหน้าขยายการลงทุนตามแผนงานที่วางเอาไว้​”  นายชาทิตย์​  กล่าวสรุป

Advertisment