เชฟรอน เดินหน้าหนุนโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ก้าวสู่ปีที่ 30

242
- Advertisment-

โครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล โดยความร่วมมือ ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ก้าวสู่ปีที่ 30 เดินหน้าพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์ ให้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับระบบนิเวศทางทะเล และส่งเสริมการเรียนรู้กระบวนการวิจัย 

โดย ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และศิษย์เก่าของโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล กล่าวว่า “ความพิเศษของค่ายในปีนี้คือการนำกิจกรรมภาคสนามกลับมาอีกครั้ง โดยผสานกับการเรียนการสอนทางออนไลน์ ซึ่งปีนี้มีนักศึกษาเข้าร่วม จาก 17 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศทั้งหมดถึง 58 คน และได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมภาคสนามที่ภูเก็ตนี้ 20 คน ซึ่งในฐานะตัวแทนจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และศิษย์เก่าของค่ายในรุ่นที่ 6 รู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นความตั้งใจและความตื่นเต้นในแววตาของเด็กๆ ที่จะเติบโตมาเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ท้องทะเลของเรา

เยาวชนที่เข้าค่ายจะได้รับความรู้ในหลากหลายมิติที่เกี่ยวข้องสำหรับสาขาอาชีพวิทยาศาสตร์ทางทะเล ทั้งการจัดการและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล และ เทคนิคการปรับแต่งและประยุกต์ภาพถ่ายในงานทางวิทยาศาสตร์ ส่วนกิจกรรมภาคปฏิบัติ ณ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จังหวัดภูเก็ต เป็นการลงเรือสำรวจเก็บตัวอย่าง จัดจำแนกสิ่งมีชีวิต ตรวจวัดคุณภาพน้ำ รวมถึงศึกษาระบบนิเวศทั้งป่าชายเลน หาดหิน หาดทราย และแนวปะการัง ซึ่งน้องๆ ยังได้มีโอกาสทำหัวข้อสัมมนา ที่ถือเป็นด่านแรกสู่การเป็นนักวิจัยที่ดี

- Advertisment -

นางสาวปิยพร รัตนวัลย์ หรือน้องการ์ตูน นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าว่า “ค่ายนี้ทำให้หนูได้มีโอกาสลองดำน้ำเป็นครั้งแรก ซึ่งความจริงก่อนจะมาค่ายนี้ หนูยังลังเลว่าชอบสายนี้จริงไหม แต่วินาทีที่ได้ดำน้ำลงไปเห็นปะการัง ทำให้หนูเห็นตัวเองชัดเจนมากว่าจะไปต่อทางสายวิทยาศาสตร์ทางทะเลแน่ๆ ค่ะ เพราะถึงแม้อาจจะลำบากเล็กน้อยตอนลงภาคสนาม แต่เราอยู่ตรงนี้ได้แบบไม่เหนื่อยเลยเพราะรักจริงๆ นอกจากนี้ ตอนที่ค่ายพาไปดูศูนย์ช่วยเหลือเต่าทะเล ด้วยความที่ชอบเต่าทะเลอยู่แล้ว และตอนทำสัมมนาหนูก็ทำหัวข้อ “เต่าเล็กควรออกจากฝั่ง” ก็ทำให้ประทับใจขึ้นไปอีก หลังจากกลับค่ายมาคือเห็นเส้นทางตัวเองชัดว่าอยากจะเรียนต่อสายนี้เพื่อเป็นอีกมือที่จะช่วยให้ท้องทะเลสดใสขึ้นค่ะ”

ส่วน นายนพณัฐ พลอยวงศ์ หรือน้องท็อป ที่ปัจจุบันเพิ่งสำเร็จการศึกษาจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวเสริมว่า “ผมไม่ได้เรียนมาทางนี้ แต่จุดเริ่มต้นคือมีโอกาสได้ไปดำน้ำ รวมถึงเคยได้ไปช่วยเก็บขยะและกู้ซากอวนใต้ทะเลเพื่อฟื้นคืนชีวิตให้ปะการัง ทำให้รู้สึกว่าเราต้องเสริมความรู้เพิ่มเติมเพื่อช่วยอนุรักษ์ท้องทะเลด้วยวิธีที่ถูกต้องมากขึ้น จนมาเจอค่ายนี้ที่ตอบโจทย์เป้าหมายของผม นอกจากช่วงที่เรียนออนไลน์ที่ทำให้ได้เห็นมุมมองของสิ่งแวดล้อมที่ต่างออกไปจากเดิมแล้ว เรายังได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมเรือสํารวจสมุทรศาสตร์ “จักรทอง ทองใหญ่” ที่ภูเก็ต ซึ่งปกติจะใช้สำรวจเก็บตัวอย่างในทะเล โดยเราได้เห็นระบบนำทาง ห้องแล็บภายในเรือ และอุปกรณ์ต่างๆ ของจริงที่เรียกได้ว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยากมากๆ ครับ ในฐานะตัวแทนที่ไม่ได้เรียนสายนี้โดยตรง ผมก็อยากชวนเพื่อนๆ ที่มีใจรักทะเล หรือคนที่อยากเห็นอนาคตของทะเลที่ดีกว่าเดิมมาลองเข้าค่ายนี้กัน”

นายสุเทพ เจือละออง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กล่าวว่า “ทะเลถือเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่าสูงทั้งด้านเศรษฐกิจ แหล่งอาชีพ และการท่องเที่ยวของประเทศไทย แต่ปัจจุบันมีภัยคุกคามทำให้ทะเลเสื่อมโทรมขึ้นเรื่อยๆ จึงภูมิใจมากที่ได้เห็นโครงการฯ ดำเนินมาถึงปีที่ 30 และได้เห็นเครือข่ายเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในการปกป้องท้องทะเลขยายกว้างขึ้น

ในฐานะบริษัทพลังงานที่เชื่อมั่นในพลังคน เชฟรอนมุ่งสนับสนุนโครงการด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด โดย นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “ตลอดกว่า 60 ปีที่เชฟรอนดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เราได้สนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยแหล่งผลิตปิโตรเลียมของเราอยู่ในอ่าวไทยและเรายังมีสถานที่ปฏิบัติงานบนฝั่งทั้งในจังหวัดชายฝั่งทะเลอย่างสงขลา นครศรีธรรมราช และชลบุรี ดังนั้นท้องทะเลไทยจึงเปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเชฟรอน ตลอด 30 ปีที่เชฟรอนสนับสนุนค่ายโครงการนิเวศวิทยาร่วมกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งและเชี่ยวชาญอย่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เราได้เห็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการสร้าง “พลังคน” ที่มีใจรักและมีความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งที่ผ่านมา โครงการฯ ได้สร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลมาแล้วกว่า 840 คน โดยเราหวังว่าจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้ จะขยายผลสู่การสร้างความยั่งยืนในระยะยาว และสร้างองค์ความรู้ใหม่ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยของประเทศไทยต่อไปในอนาคต”

Advertisment