โดย วัชรพงศ์ ทองรุ่ง บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center (ENC)
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมและคณะสื่อมวลชนหลายสำนักจากประเทศไทย มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมโรงงานของ Mitsubishi Heavy Industries หรือ MHI ที่ประเทศญี่ปุ่น ทางบริษัทอนุญาตให้สื่อมวลชนถ่ายภาพได้เฉพาะบางจุด แต่ในจุดที่มีความสำคัญที่เป็นไฮไลท์ในเชิงเทคโนโลยีนั้นห้ามบันทึกภาพ แต่ก็ได้ทราบว่าการพัฒนาเทคโนโลยีของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฮโดรเจนสำหรับภาคอุตสาหกรรมของทาง MHI นั้นค่อนข้างล้ำหน้าไปไกล โดยอุปกรณ์ Turbine ที่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้านั้น สามารถใช้กับก๊าซธรรมชาติที่มีส่วนผสมของไฮโดรเจนสูงถึง 30% ได้โดยไม่มีปัญหา ซึ่งปัจจุบัน MHI กำลังอยู่ในช่วงทดสอบตัวอุปกรณ์ Turbine ที่ใช้กับพลังงานไฮโดรเจน 100% เพียงแต่ปัญหาคือการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนยังมีต้นทุนที่สูงกว่าก๊าซธรรมชาติค่อนข้างมาก

ในประเทศไทย MHI มีสำนักงานตัวแทนอยู่ที่กรุงเทพฯ และมีกลุ่มลูกค้าที่ใช้ Gas Turbines ของ MHI รุ่นที่สามารถใช้ก๊าซธรรมชาติผสมไฮโดรเจน 30% ได้แก่ โรงไฟฟ้า IPP ของกลุ่ม GULF และโรงไฟฟ้าหินกอง ที่เป็นการร่วมทุนระหว่าง RATCH Group และ GULF โดยในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ แผน PDP ล่าสุดที่อยู่ระหว่างการจัดทำนั้น จะมีการส่งเสริมให้โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ต้องมีส่วนผสมของไฮโดรเจนประมาณ 5% ซึ่งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่เดินเครื่องอยู่ในปัจจุบันสามารถรองรับนโยบายของภาครัฐได้ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ใช้อุปกรณ์ Gas Turbines ของ MHI ก็มั่นใจได้ว่าสามารถทำได้โดยไม่มีปัญหา

ความสำคัญของพลังงานไฮโดรเจน คือ เป็นพลังงานสะอาดที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยสามารถนำไปผสมรวมกับเนื้อก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม และเมื่อประเทศไทยกำลังมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พลังงานไฮเดรเจนจึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำคัญที่จะมาช่วยผลักดันประเทศไทยในการก้าวสู่เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน
อย่างไรก็ตาม แม้ในเชิงเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่รองรับพลังงานไฮโดรเจนจะมีความพร้อม แต่ในแง่การผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนนั้นยังมีต้นทุนต่อหน่วยที่สูงมาก หากประเทศไทยนำไฮโดรเจนมาผสมในเนื้อก๊าซธรรมชาติเร็วเกินไปและในสัดส่วนที่สูงเกินไปก็จะกลายเป็นภาระต้นทุนของผู้บริโภค ดังนั้นในเชิงนโยบาย ภาครัฐจึงต้องพิจารณาระยะเวลาที่เหมาะสม

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมด้านพลังงานไฮโดรเจน ทางกลุ่ม ปตท. ซึ่งมีบทบาทหลักในการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ บอกเอาไว้ว่าได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับพลังงานไฮโดรเจนไว้แล้ว ซึ่งในช่วงเริ่มต้น ปตท. กำลังมองหาแหล่งผลิตพลังงานไฮโดรเจนจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตไม่สูงมาก เช่น ตะวันออกกลาง หรือ อินเดีย และจะเป็นการนำเข้ามาใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรม แทนการลงทุนสร้างโรงงานผลิตเอง
โดยแผนการนำเข้าของ ปตท. จะสอดรับกับนโยบายภาครัฐ ที่ประเมินกันว่าอาจจะขยับไปช่วงหลังปี 2035 เพื่อรอจังหวะให้ราคาไฮโดรเจนลดลงมาใกล้เคียงกับราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่เรานำเข้ามาเสริมความมั่นคงทางพลังงาน นอกเหนือจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย
ถือได้ว่าทั้งนโยบายภาครัฐและองค์กรหลักที่ดูแลความมั่นคงทางพลังงานอย่าง ปตท. มีการขยับตัวเตรียมความพร้อมด้านพลังงานไฮโดรเจนเอาไว้พอสมควร ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญของพลังงานสะอาดที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ได้ตามที่ประกาศไว้ในเวทีโลก