เขียนเล่าข่าว EP: 67 – ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบ ส่งผลกระทบอย่างไร?

91
- Advertisment-

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีบทบาทและภารกิจในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีความผันผวนจนเกิดสภาวะวิกฤต หรือเกิดภาวะขาดแคลน เพื่อรักษาระดับของราคาไม่ให้สูงเกินไปจนเกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันฯ อยู่ภายใต้กรอบนโยบายการบริหารตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนด

กองทุนน้ำมันฯ จัดเก็บเงินจากโรงกลั่นน้ำมัน/ผู้ค้าน้ำมัน ตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ในกรณี เช่น ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กบน. จะพิจารณานำเงินกองทุนน้ำมันฯ มาอุดหนุนราคาระยะสั้น โดยการปรับลดการเก็บเงินลง เพื่อสร้างสมดุลราคาให้ประชาชนสามารถปรับตัวได้และไม่กระทบต่อประชาชนอย่างรวดเร็วเกินไป ผู้ใช้น้ำมันจึงอาจไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วราคาน้ำมันจะต้องปรับขึ้น แต่กลไกของกองทุนน้ำมันฯ ทำให้ราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการน้ำมันไม่ปรับขึ้นทันที และในทางกลับกัน เมื่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดโลกปรับลดลง ราคาขายปลีกก็อาจจะยังไม่ปรับลงทันที เพื่อให้สามารถเก็บเงินคืนกองทุนส่วนที่นำไปชดเชยก่อน โดย กบน. อาจลดการชดเชยราคาและเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อบริหารสภาพคล่องของกองทุน ทำให้บางครั้งราคาขายปลีกน้ำมันอาจไม่ได้ปรับตัวลดลงทันทีตามแนวโน้มราคาตลาดโลกที่ลดลง 

ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯ มีภาระในการเข้าไปอุดหนุนราคาดีเซลและ LPG หรือก๊าซหุงต้ม เพื่อไม่ไห้ราคาเชื้อเพลิงทั้งสองประเภทปรับขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐที่พิจารณาว่าดีเซลเป็นน้ำมันเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับการขนส่งและต้นทุนสินค้า ในขณะเดียวกันก็มีนโยบายดูแลกลุ่มเปราะบาง ร้านค้า หาบเร่ และแผงลอย ที่ใช้ก๊าซหุงต้ม เพราะต้องการช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีภาระการชดเชยราคาที่หนักหน่วง โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกและ LPG พุ่งสูงขึ้นเป็นระยะเวลานานที่ผ่านมา

- Advertisment -

ภาระการชดเชยดังกล่าว ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีฐานะติดลบ โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ณ วันที่ 29 ก.ย. 2567 กองทุนน้ำมันฯ ติดลบ 9.9 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการติดลบในส่วนของบัญชีน้ำมัน 5.2 หมื่นล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ที่ 4.7 หมื่นล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ กองทุนน้ำมันฯ เคยติดลบสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท ก่อนที่ตัวเลขติดลบจะค่อยๆ ปรับลดลงมาในช่วงราคาน้ำมันขาลง จนสามารถพลิกกลับมาเรียกเก็บเงินที่ชดเชยไปปก่อนคืนเข้ากองทุนน้ำมันได้ฯ ในปัจจุบัน

อาจมีคำถามว่า ฐานะกองทุนน้ำมันติดลบนั้นส่งผลกระทบอย่างไร? การที่ฐานะของกองทุนน้ำมันติดลบ หมายถึงรายได้ที่จัดเก็บน้อยกว่ารายจ่ายที่ไปชดเชยราคาดีเซลและ LPG ซึ่งภาระที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ขาดสภาพคล่อง ต้องไปกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งก็จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ย และเป็นภาระที่ต้องจ่ายหนี้คืนพร้อมดอกเบี้ย นอกจากนั้น หากกองทุนน้ำมันฯ จำเป็นต้องกู้ยืมเพิ่มขึ้นไปจนถึงจุดที่เกินความสามารถในการชำระหนี้ได้ ก็อาจทำให้รัฐบาลต้องนำเงินงบประมาณที่ได้จากการเก็บภาษีประชาชนมาใช้หนี้ให้กับกองทุนน้ำมันแทน ซึ่งจะไม่เป็นธรรมกับประชาชนที่ไม่ได้มีรถยนต์ที่ต้องเติมน้ำมัน   

และอาจกระทบต่อความสามารถในการดำเนินการตามภารกิจในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562

นอกจากนั้น ยังอาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำมัน คือ ในช่วงที่ราคาน้ำมันขาลง ผู้ใช้น้ำมันดีเซลอาจจะไม่ได้ใช้น้ำมันในราคาที่สะท้อนต้นทุนจริง ณ ขณะนั้น เพราะต้องบวกส่วนที่ต้องจ่ายคืนกองทุนน้ำมันฯ เข้าไปด้วย จนกว่าภาระการติดลบของกองทุนน้ำมันฯ ที่บวกอัตราดอกเบี้ยที่กู้มาก่อนหน้านี้ จะหมดไป

อย่าไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมาได้มีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เสนอขอผ่อนผันการใช้กฎหมาย “ยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ” ออกไปอีก 2 ปี ซึ่งจะส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ สามารถนำเงินไปชดเชยราคาน้ำมันได้จนถึง 24 ก.ย. 2569 นี้เท่านั้น

สำหรับ พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ต่างๆ และน้ำมันดีเซล B7 และดีเซล B20 มาตั้งแต่ปี 2565 แต่กฎหมายเปิดโอกาสให้ขอยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ขอขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในส่วนของน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์นั้น ปัจจุบัน ไม่ได้รับการชดเชยราคาและถูกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เป็นปกติตามโครงสร้างราคาน้ำมันของไทย (ราคาเนื้อน้ำมัน+ภาษีและกองทุน+ค่าการตลาด) ทำให้หลายฝ่ายมองว่าหากภาครัฐบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ โดยกำหนดอย่างชัดเจนให้หนี้กองทุนน้ำมันฯ ที่เกิดการการชดเชยราคาดีเซลและ LPG ต้องถูกชดใช้คืนด้วยเงินที่เก็บจากการขายน้ำมันดีเซลและ LPG ก็จะมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้กลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์มากขึ้น

Advertisment