เขียนเล่าข่าว EP. 66 – เงินบาทแข็งค่า ทำไมราคาน้ำมันดีเซลยังไม่ลดลง?

75
- Advertisment-

จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาพอสมควร มีผลทำให้ต้นทุนการนำเข้าน้ำมันดิบถูกลง แต่ทำไมราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลยังไม่ปรับลดลงตาม? คำถามนี้ตอบให้เข้าใจง่ายๆ ได้ดังนี้ครับ

ไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิเพราะแหล่งน้ำมันดิบในประเทศผลิตได้น้อยกว่าความต้องการใช้ ดังนั้น ปัจจัยที่มีผลต่อต้นทุนราคาน้ำมัน นอกจากอัตราภาษีและการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนต่างๆ ก็คือ การปรับตัวขึ้นลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

น้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกที่ประชาชนนำรถยนต์มาเติมกันตามสถานีบริการน้ำมัน มีสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มน้ำมันดีเซล ได้แก่ รถบรรทุก รถตู้ รถปิกอัพ รวมไปถึงบรรดารถหรูที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล อีกกลุ่มคือ กลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ได้แก่ รถยนต์ส่วนตัวและรถมอเตอร์ไซด์ แต่กลุ่มน้ำมันดีเซล รัฐมีนโยบายในการกำหนดเพดานราคาเอาไว้ ไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร หมายความว่า ถึงแม้ว่าในยามที่ราคาตลาดโลกปรับสูงขึ้น หรือ เงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งทำให้ต้นทุนของผู้ค้าน้ำมันสูงขึ้นมากเกินไปกว่า 33 บาทต่อลิตร ราคาขายปลีกที่หน้าปั๊มก็จะต้องขายไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร โดยส่วนต่างที่เกิดขึ้นนี้ รัฐใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกแบกรับภาระต้นทุนน้ำมันดีเซลเอาไว้ จึงทำให้ ณ วันที่ 29 ก.ย. 2567 กองทุนน้ำมันฯ มีฐานะติดลบรวม 9.9 หมื่นล้านบาท เป็นการติดลบในส่วนของบัญชีน้ำมัน 5.2 หมื่นล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ที่ 4.7 หมื่นล้านบาท

- Advertisment -

ดังนั้น ในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง หรือ เงินบาทแข็งค่า ที่ทำให้ต้นทุนถูกลง แต่เหตุราคาขายปลีกในส่วนของดีเซลยังคงอยู่ที่ระดับเดิม ไม่ได้ปรับลดลงตามต้นทุน ก็เพราะรัฐใช้เป็นจังหวะเรียกเก็บเงินส่งคืนกองทุนน้ำมันฯ เพื่อลดฐานะการติดลบดังกล่าว 

สรุปได้ว่า ในยามราคาน้ำมันขาขึ้น ผู้ใช้น้ำมันดีเซลเป็นผู้ได้ประโยชน์เพราะราคาขายปลีกไม่ได้ปรับขึ้นตามต้นทุนจริง ดังนั้น ในยามน้ำมันขาลง ก็ต้องยอมถูกทยอยเรียกเก็บเงินคืนกองทุนน้ำมันฯ ที่ได้ช่วยอุดหนุนราคาไปก่อนแล้ว

ในขณะที่กลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์  รัฐไม่มีนโยบายกำหนดเพดานราคา ดังนั้น จึงจะเห็นราคาเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ปรับราคาขึ้นๆ ลงๆ เสมอ ซึ่งสะท้อนถึงต้นทุนที่มาจากปัจจัยราคาตลาดโลกและค่าเงินบาท ทำให้ในบางช่วงที่ราคาน้ำมันขาขึ้น ผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ เติมน้ำมันราคาสูงกว่า 40 บาทต่อลิตร แต่ผู้ใช้ดีเซลยังได้เติมน้ำมันที่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ทั้งๆ ที่ต้นทุนเนื้อน้ำมันจริงไม่ได้ต่างกันมาก ดังนั้น ในช่วงที่ราคาน้ำมันขาลง การปรับลดราคาจึงเป็นเฉพาะส่วนของน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลยังคงอยู่ที่ระดับเดิมเพราะต้องเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ตามที่กล่าวไปแล้ว 

กลไกเชิงนโยบายที่รัฐกำหนดไว้แบบนี้ อาจทำให้บรรดาผู้ใช้น้ำมันแต่ละกลุ่มเกิดความกังขาว่าเป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งก็มีเสียงสะท้อนถึงมาตรการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันว่าเป็นมาตรการที่ไม่ยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดการประหยัดและการใช้อย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบกว่า 90% ของความต้องการใช้ ดังนั้น นโยบายการช่วยเหลือราคาขายปลีกน้ำมันควรพิจารณาใช้เฉพาะบางกลุ่มจะเหมาะสมกว่าหรือไม่ เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักต่องบประมาณของประเทศ

Advertisment