เขียนเล่าข่าว EP. 61 – ความท้าทายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกับเป้าหมาย Net Zero

312
- Advertisment-

ปิโตรเคมี ซีรีส์ ตอนที่ 4 : ความท้าทายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกับเป้าหมาย Net Zero

นับตั้งแต่ไทยขุดสำรวจพบก๊าซธรรมชาติเมื่อปี 2516 และสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติขึ้น ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งและช่วยผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการใช้ของประชาชน ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีความสำคัญและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล แต่ปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้านที่ถาโถมเข้ามา ทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยส่งผลให้กำลังซื้อลดลง ราคาพลังงานผันผวนที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และกำไร ความไม่แน่นอนทางนโยบายการเมือง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นทุนต่ำมาแข่งขันในเวทีโลก ทำให้สินค้าล้นตลาดและราคาผันผวน และที่สำคัญ คือ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และปัญหาการจัดการขยะพลาสติก (Plastic Waste)

ขณะที่ประเทศไทยได้กำหนดให้ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) เป็นวาระแห่งชาติ ที่จะพาไทยไปสู่เป้าหมายของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้วยแนวทางการเปลี่ยนข้อได้เปรียบ (Comparative Advantage) ที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ด้วยนวัตกรรมเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขอบคุณแผนภาพจาก www.bcg.in.th โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

โมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทยมีความสอดคล้องกับประเด็นว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ประชาคมโลกมีเป้าหมายจะร่วมกันควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศา เมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม ผ่านความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน โดยในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ครั้งที่ 27 หรือ COP27 เมื่อปลายปี 2565 ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ให้ได้ 30 – 40% ภายในปี ค.ศ 2025 (พ.ศ. 2568) เพื่อเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือ การมีปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) ออกสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืน ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) และเดินหน้าเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ปรับตัวสู่อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

- Advertisment -

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ได้ประกาศ Roadmap ของประเทศในการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573โดยมีเป้าหมายลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย เช่น ถุงหูหิ้ว หลอด กล่องโฟม แก้วพลาสติก เป็นต้น และใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570

ท่ามกลางบริบทที่มีความท้าทายดังกล่าวข้างต้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจำต้องเร่งปรับตัวเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุทางการเกษตร หรือ เคมีชีวภาพ ออกมาจำหน่าย

โดยแนวทางพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทย อาจเริ่มต้นก้าวแรกจากงานวิจัยเพื่อรองรับนโยบาย BCG ของประเทศ ซึ่งจะต่อยอดความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศด้วยนวัตกรรม ส่วนก้าวต่อไป คือ การนำงานวิจัยที่ได้ มาสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ด้วยการพัฒนาและประยุกต์ใช้ดิจิทัลเพื่ออุตสาหกรรม และสุดท้าย พัฒนาไปสู่การนำงานวิจัยมาตอบโจทย์ทิศทางอนาคตของโลก ด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่รองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งแนวทางการพัฒนาดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยยังคงเติบโตต่อไปและมีความยั่งยืนในอนาคต

เมื่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าความต้องการผลิตภัณฑ์จากปิโตรเคมีจะมีมากขึ้นในอนาคต ดังนั้นแม้ปัญหาโลกร้อนและปัญหาอื่น ๆ จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้ต้องเร่งปรับตัว แต่ก็นับเป็นโอกาสใหม่ให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพลาสติกชีวภาพ ออกมาจำหน่ายมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการที่คาดว่าจะมีมากขึ้นในอนาคต

Advertisment