วันที่ 29 ธันวาคม 2566 เป็นวันที่ ปตท. ก่อตั้งมาครบ 45 ปี โดยมีการจัดงาน “PTT 45th Anniversary” Ignite Life Potential ซึ่งเป็นงานเลี้ยงรับรองขอบคุณผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ไปตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน ซึ่งผมก็ได้รับเกียรติให้ร่วมงานนี้ด้วยเช่นกัน
นอกเหนือจากประเด็นที่คุณเศรษฐากล่าวชื่นชม ปตท. บนเวที ที่สื่อหลายสำนัก รวมทั้ง Energy News Center เขียนลงเป็นข่าวไปแล้วนั้น ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือสิ่งที่คนที่มาร่วมงานได้รับแจกหลังจบงานซึ่งใส่ในถุงผ้าลายการ์ตูนสีสันสวยงาม คือ หนังสือ 2 เล่ม ที่จัดทำขึ้นในโอกาสครบรอบ 45 ปี ปตท.
งานครบรอบ 45 ปี ปตท. นั้น มีเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องราวให้ออกไปสู่วงกว้าง และมีคีย์เวิร์ดที่จดจำและร้องตามได้ง่าย จากบทเพลง “เธอคือพลังของฉัน” ซึ่งขับร้องโดยนักร้องขวัญใจคนไทยทั้งประเทศ “พี่เบิร์ด” ธงไชย แมคอินไตย์ และ “น้องอิ้งค์” วรันธร เปานิล และในงานวันนั้นยังมีละครเวที ที่บทละครถ่ายทอดความผูกพันระหว่าง ปตท. กับคนไทย
หนังสือสองเล่มนั้น เล่มแรก ชื่อ PTT Ignite Life Potential หน้าปกดูเรียบหรู และเล่มที่สองซึ่งหนากว่า ชื่อ “ปตท. จุดพลังไทย จากยุคบุกเบิก ขับเคลื่อนสู่อนาคต” ซึ่งหากอ่านจบทั้งสองเล่ม จะเข้าใจเรื่องราวของ ปตท. ตลอด 45 ปีที่ผ่านมา ทั้งในภาพกว้าง การเจาะลึกในประเด็นสำคัญ และสัมผัสถึงคุณค่าขององค์กร
ใน EP. 45 นี้ จะเสนอไฮไลท์ของเล่มแรก คือ PTT Ignite Life Potential ส่วนอีกเล่มจะยกไปเล่าใน EP. 46
–
PTT Ignite Life Potential ปกแข็งสีน้ำเงินเข้ม เนื้อหาจำนวน 120 หน้า ไม่รวมปก มีคุณทรงกลด บางยี่ขัน เป็นบรรณาธิการบริหาร
โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 10 บท 10 เรื่อง ที่ชื่อบทครอบคลุมประเด็นสำคัญในแต่ละช่วงการทำงานของ ปตท. ได้เป็นอย่างดี และเล่าผ่านผู้บริหาร ปตท. ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
บทที่ 1 ปตท. มีวิกฤตเป็นจุดกำเนิดและเติบใหญ่ มีคุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ซึ่งเป็นผู้นำคนที่ 5 ขององค์กร มาเล่า มีคำพูดสำคัญของคุณประเสริฐที่ดึงออกมาเน้นย้ำกับผู้อ่านคือ “การส่งเสริมคนเก่ง คนมีความสามารถให้อยู่ถูกที่ถูกทาง เป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญอย่างมาก”
–
ส่วนบทที่ 2 การพลิกโฉมปั๊ม ปตท. ครั้งใหญ่ จนเกิด Café Amazon แก้วแรก มีคุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอ ปตท. คนปัจจุบัน เป็นผู้บอกเล่าเรื่องราว และมีวรรคทองของคุณอรรถพลในเล่ม คือ “ถ้ามาทีหลังแล้วคิดเหมือนคนอื่น ก็คงประสบความสำเร็จยาก”
บทที่ 3 วังจันทร์วัลเลย์ เมืองอัจฉริยะ ที่สร้างอัจฉริยะจากการศึกษา มี ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนต่อจากคุณประเสริฐ มาเล่าเรื่องโรงเรียนกำเนิดวิทย์และสถาบันวิทยสิริเมธี ที่เน้นการสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถไปคว้ารางวัลใหญ่ในเวทีระดับโลกได้ รวมไปถึงการผลักดันวังจันทร์วัลเลย์ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ให้เป็นซิลิคอนวัลเล่ย์ของไทย
–
“ความภูมิใจสูงสุดของ ปตท. คือเราให้โอกาสกับคนมากมายที่ระบบการศึกษาปัจจุบันดูแลพวกเขาไม่ได้” ส่วนหนึ่งของคำให้สัมภาษณ์ของดร.ไพรินทร์ ในหนังสือ
บทที่ 4 พลังงานความเย็นเป็นได้มากกว่าที่คิด เป็นการสัมภาษณ์คุณวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท. ที่เล่าถึงความสำคัญของก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ที่นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศแล้ว ความเย็นที่ติดมากับ LNG จากการทำให้มีสถานะเป็นของเหลวด้วยการลดอุณหภูมิลงจนติดลบ 160 องศาเซลเซียส มาใช้ประโยชน์ในการปลูกไม้เมืองหนาว เช่น ดอกทิวลิปและสตรอว์เบอรี่
“ปตท. ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนและแบ่งปันองค์ความรู้ทางด้านนวัตกรรมให้เกิดขึ้นเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย” ส่วนหนึ่งในบทสัมภาษณ์คุณวุฒิกร
บทที่ 5 เส้นทางปลูกป่า 1 ล้านไร่ จากสิ่งเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ตามกาลเวลา สัมภาษณ์คุณเกตุ กล่อมชุ่ม อดีตหัวหน้าหน่วยปลูกป่าของ ปตท. ที่มาเล่าเรื่องภารกิจปลูกป่าของ ปตท. ที่เป็นมากกว่าการปลูกต้นไม้ การได้รับคำแนะนำที่ดีจากชุมชนและปราชญ์ชาวบ้าน ที่จะเข้าไปปลูกป่าไว้ในใจคน
–
บทที่ 6 การปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นองค์กร Net Zero ที่ไม่ได้ทำแค่การปลูกป่า สัมภาษณ์คุณเทิดเกียรติ พร้อมมูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธองค์กรและความยั่งยืน ปตท. ที่มาเล่าถึงกลยุทธ์ ปรับ เปลี่ยน ปลูก การปลูกป่าอีกล้านไร่ที่สอง สู่เป้าหมาย Net Zero ที่ตั้งเป้าไว้เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ
บทที่ 7 อนาคต ปตท. จุดเปลี่ยนผ่านที่ไกลกว่าพลังงาน สัมภาษณ์คุณบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท. ที่เล่าเรื่องธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตของ ปตท. และธุรกิจ Life & Science
“ปตท. จะเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่เพื่อสร้างโอกาสและอนาคตของประเทศไทย” วรรคทองของคุณบุรณินในหนังสือ
–
บทที่ 8 องค์กรมุ่งพัฒนาคน-ชีวิต 40 ปีใน ปตท. ของอดีตนักศึกษาฝึกงานสู่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน สัมภาษณ์ คุณพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท. ที่มาเล่าถึงประสบการณ์การทำงานที่ ปตท. ซึ่งต้องใช้ความอดทนจนประสบความสำเร็จในสาขาวิชาที่เรียนมาจากรั้วมหาวิทยาลัย ในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ธรรมศาสตร์ สู่โลกของการทำงานจริงที่ ปตท.
บทที่ 9 ประสานพลังเพื่อความเป็นเลิศ สัมภาษณ์คุณนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ที่บอกถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันในกลุ่ม ปตท. ว่า ดีเอ็นเอของคน ปตท. คือการทำงานด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งบ่อยครั้งช่วยทำให้เรื่องที่มีความซับซ้อนกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ในที่สุด
“ผมเชื่อว่า จุดเริ่มต้นบนพื้นฐานการทำงานที่ประสานสอดคล้องกันและร่วมกันทำงานด้วยความมุ่งมั่นจะเกิดสิ่งที่ดีตามมา โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ให้เกียรติ รับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงานและคนอื่นๆเพื่อนำมาปรับใช้ให้ตรงกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตได้อย่างเหมาะสม” คำพูดของคุณนพดลที่โดนใจคนอ่าน
–
บทที่ 10 หัวใจหลักของวิสัยทัศน์ผู้นำ ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง สัมภาษณ์ คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอ ปตท. ที่มาอธิบายถึงวิสัยทัศน์ขององค์กร “คำที่ดีต้องกำหนดทิศทางขององค์กรได้” ซึ่งเป็นที่มาของ “Powering Life with Future Energy and Beyond”
“ไม่ว่ารูปแบบการใช้พลังงานของโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ปตท. จะยังคงตามไปทำหน้าที่เพื่อสร้างความมั่นคงให้ประเทศเรา และจะอยู่คู่ประเทศไทย พร้อมทั้งสร้างความเจริญเติบโตให้ประเทศไทยตลอดไป” เป็นประโยควรรคทองทิ้งท้ายของคุณอรรถพลในหนังสือ
น่าเสียดายที่หนังสือทั้ง 2 เล่ม จัดพิมพ์มาน้อยกว่าความต้องการที่คนอยากจะได้ไว้ครอบครอง สำหรับคนที่อยากจะอ่านเนื้อหาทั้งเล่ม อาจจะไปเปิดอ่านได้ในรูปแบบของ e-Book >> https://www.pttplc.com/th/Media/Activity/Highlights/Content-41015.aspx
ใน เขียนเล่าข่าว EP. 46 ผมจะพาผู้อ่านไปพลิกอ่านไส้ในของหนังสืออีกเล่ม “ปตท. จุดพลังไทย จากยุคบุกเบิก ขับเคลื่อนสู่อนาคต“ โปรดติดตาม
–