เขียนเล่าข่าว EP.41  ปตท.ต่อยอดธุรกิจความเย็นจาก LNG

822
- Advertisment-

ผมมีโอกาสได้ร่วมเดินทางไปงาน ผู้บริหาร ปตท.พบสื่อมวลชน ซึ่งจัดที่จังหวัดระยอง ช่วงวันที่ 9-10 ตุลาคม 2566  ที่ผ่านมา ทริปนี้ผู้บริหารฝั่งของ ปตท.นำโดยคุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอ ปตทดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน  หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ คุณเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่  คุณรัตติกุล ปิยะวงศ์วาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) และคุณกนกพร รอดรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอ ปตท

ในเนื้อหาสาระที่ทาง ปตท.อยากจะให้สื่อมวลชนได้มีความรู้และความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น คือ งานส่วนของธุรกิจ LNG  และ ธุรกิจแบตเตอรี่ ของบริษัท นูออโว พลัส ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ ( จะเขียนเล่าในตอนถัดไป ) โดยทั้ง 2 ส่วนนี้ถือว่ามีความคืบหน้าในการดำเนินงานให้มองเห็นภาพรวมของการดำเนินธุรกิจ และทิศทางที่จะเดินหน้าต่อไปในอนาคต

ความน่าสนใจในธุรกิจ LNG ของ ปตท.นั้น คือการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในส่วนของท่าเทียบเรือ ถังเก็บLNG  กระบวนการแปรสภาพLNG จากของเหลวอุณหภูมิติดลบ 160 องศาเซลเซียสที่ขนส่งมาทางเรือให้มีสถานะเป็นก๊าซเพื่อส่งเข้าระบบท่อส่งก๊าซ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐ ที่ต้องเตรียมความพร้อมจัดหาLNG นำเข้าให้ทันต่อความต้องการใช้พลังงานที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทดแทนปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

- Advertisment -

ปัจจุบัน ปตท.มีการลงทุน LNG Terminal เสร็จไปแล้ว 2 แห่ง มีกำลังการแปรสภาพ LNG สูงสุดรวม 19 ล้านตันต่อปี โดยแห่งแรกอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ขนาดพื้นที่ 459 ไร่ มีกำลังการแปรสภาพLNG รวม 11.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งเฟสแรก 5 ล้านตันต่อปี (เทียบเท่าก๊าซ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ) นั้น เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2554 เฟสที่สองอีก 5 ล้านตันต่อปีเปิดดำเนินการในปี 2560 และส่วนขยายอีก 1.5 ล้านตันต่อปี เปิดดำเนินการในปี 2561  ส่วน LNG Terminal แห่งที่สอง ที่บ้านหนองแฟบ ขนาดพื้นที่ 180 ไร่ มีกำลังในการแปรสภาพLNG ได้อีก 7.5 ล้านตันต่อปี เปิดดำเนินการเมื่อปี 2565 และยังสามารถขยายได้อีก 3.5 ล้านตันต่อปี โดย LNG Terminal มีการวางท่อส่งก๊าซเชื่อมต่อถึงกัน

สำหรับโครงการก่อสร้าง LNG Terminal แห่งที่ 3 เฟสแรก ขนาดไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตันต่อปี ภายใต้โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3  ยังอยู่ในขั้นตอนของการถมทะเล ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการอีกประมาณ 5 ปี

ประเด็นที่ทางผู้บริหารนำเสนอในห้องประชุมภายในอาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา ในบริเวณ LNG Terminal แห่งที่ 2 ในส่วนของคุณอรรถพล นั้น เน้นย้ำถึงความสำคัญของการมี facility ที่เพียงพอรองรับความต้องการใช้ LNG ในอนาคต จะช่วยตอบโจทย์ด้านความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ทำให้การบริหารสถานการณ์วิกฤตพลังงานที่ไม่คาดคิด ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 ในขณะที่ ปตท.มีการซื้อที่ดินเพิ่มเติม 160 ไร่ใกล้กับ LNG Terminal แห่งที่ 2 รองรับการลงทุนเพื่อใช้ประโยชน์จากความเย็นที่ติดมากับLNG  ทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้า , Data Center , Air Products  รวมถึงการสร้างถังเก็บLNG เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับ LNG  เพิ่มขึ้นในอนาคต  นอกเหนือไปจากการใช้ประโยชน์จากความเย็นในการปลูกพันธุ์ไม้เมืองหนาว

ด้านหม่อมหลวงปีกทอง ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของราคาLNG ที่มักจะเป็นไปตามถดูกาล โดยปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ระดับ 14 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และในช่วงฤดูหนาว ในเดือน พฤศจิกายน -ธันวาคม ราคาจะขยับสูงขึ้นไปอยู่ที่ ระดับ 16-17 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และช่วงฤดูร้อน ในเดือนมีนาคม-เมษายน ราคาก็จะขยับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู  โดยการที่ราคาLNG เคยขยับสูงทะลุ 50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ จากผลของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน   โดย ปตท.พยายามที่จะส่งเสริมตลาดการใช้LNG เพื่อเพิ่มดีมานด์ให้มากขึ้น ทั้งในประเทศและการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง PTTLNG  มีความพร้อมที่จะให้บริการกับผู้ใช้ที่ได้รับใบอนุญาตจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ทุกราย โดยยิ่งมีการใช้มากขึ้นต้นทุนการให้บริการก็จะลดต่ำลง

ส่วนคุณรัตติกุล ชี้ให้เห็นถึงสัดส่วนการใช้ LNG ที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 20 ปี จากเดิมที่ยังไม่มีการนำเข้าLNG มาใช้เลย ปัจจุบันในปี 2566 มีการใช้ประมาณ 10 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 33% ของการใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งหมด โดย PTTLNG มุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการสถานีบริการ LNG ระดับสากล พร้อมเดินหน้าประเทศไทย สู่การเป็น LNG Regional Hub และมีนโยบายที่จะพัฒนาไปสู่การเป็น Green Terminal ในระดับ World Class ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์พลังงานด้วยการลดการใช้ไฟฟ้า และ CO2

ปัจจุบัน ปตท. มีสัญญาซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาวกับ Qatargas , Shell, BP และ Petronas จำนวนทั้งสิ้น 5.2 ล้านตันต่อปี และ ปตท. ได้จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลวสัญญาระยะยาวเพิ่มเติม ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี จากบริษัท พีทีที โกลบอลแอลเอ็นจี จำกัด (PTTGL)

ผู้บริหาร ปตท.ถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึกกับคณะสื่อมวลชน

.

.

ทิ้งท้ายเป็นข้อมูล สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจจะเข้ามาชมพันธุ์ไม้เมืองหนาว เช่น ทิวลิป ลิลลี่ และ ไฮเดรนเยีย รวมถึงผลไม้เมืองหนาวอย่าง สตรอว์เบอร์รี ซึ่งมีสายพันธุ์หลักที่เป็น Signature คือ สายพันธุ์อะกิฮิเมะ (Akihime) สตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์ญี่ปุ่น และมีสายพันธุ์ไทย คือสายพันธุ์พระราชทาน 80 พร้อมทั้งการทดลองปลูกสายพันธุ์ญี่ปุ่นอื่นๆ เช่น สายพันธุ์เทนชิ (Tenshi) สตรอว์เบอร์รีสีขาว สายพันธุ์ฮิโระเบอร์รี (Hiro Berry)  ทางอาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา (Flora Exhibition Hall) เปิดให้เข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในวันจันทร์ – วันเสาร์ เวลา 9.30 – 16.30 น. ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

โดยยอดผู้เยี่ยมชมสะสม ณ กันยายน 2566 จำนวน 273,440 ราย ( 3 มกราคม – 22 กันยายน 2566) ถือได้ว่าได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก

Advertisment