เขียนเล่าข่าว​ EP.39 ทำความเข้าใจ​ กองทุนอนุรักษ์พลังงาน​ หนึ่งในกลไกขับเคลื่อนนโยบายพลังงาน​ ในมือ “พีระพันธุ์​ สาลี​รัฐ​วิภาค”

1081
- Advertisment-

ทำความเข้าใจ​ “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน”หนึ่งในกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายของ​ รองนายกรัฐมนตรี​และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่​ ที่ถือฤกษ์เข้าทำงาน​ ที่บ้านพิบูลธรรม​ เชิงสะพานกษัตริย์​ศึก​ ในรั้วเดียวกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน​ หรือ​ พพ.​ หนึ่งในกรมที่มีความสำคัญของ​กระทรวงพลังงาน​ ระบุเวลา​ 14.30 น.​วันที่​ 13​ กันยายน​ 2566​ หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี​ นัดแรก​ ที่เรื่องของการปรับลดราคาพลังงาน​ เป็นหนึ่งในวาระสำคัญของการพิจารณา​

ความสำคัญของ​ “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” คือ​ วงเงินหมุนเวียนระดับหลายพันล้านบาทต่อปี ที่อยู่ภายในการกำกับของกระทรวงพลังงาน

จากในอดีตที่กองทุน​นี้​ เคยมีเงินสะสมสูงถึงระดับ​ 4​ หมื่นล้านบาท​ ถือเป็นขุมทรัพย์สำคัญที่นักการเมืองและพวกพ้องหมายตา​ หวังเข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์​ จากการอนุมัติโครงการที่ได้เงินสนับสนุนจากกองทุน​ ลงไปในพื้นที่ฐานเสียงของพรรคพวกตัวเอง​ เนื่องจากไม่มีการตรวจสอบและประเมินผลการใช้เงินที่ชัดเจน​

- Advertisment -

จนเมื่อสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ จึงได้มีการปฏิรูปกองทุนฯ ใหม่ โดยจัดตั้ง “สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” ขึ้นมาดูแลระบบบัญชี การบริหารจัดการกองทุนฯ อย่างเป็นระบบ และตรวจสอบได้

ล่าสุด ณ วันที่ 31 ส.ค. 2566 กองทุนฯ เหลือเงินประมาณ 13,007 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่เรียกเก็บจากประชาชนผู้ใช้น้ำมันเบนซิน, น้ำมันดีเซล, น้ำมันแก๊สโซฮอล์, น้ำมันก๊าด และน้ำมันเตา ส่งเข้ากองทุนฯ 0.05 บาทต่อลิตร

เงินที่คงเหลืออยู่ในปัจจุบัน​ ลดลงต่ำกว่าอดีตที่เคยมีวงเงินสูงสุด ณ วันที่ 31 ก.ค. 2561 อยู่ที่ 41,874 ล้านบาท

ทั้งนี้เนื่องจากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2564 ได้สั่งให้ลดอัตราจัดเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันเพื่อส่งเข้ากองทุนฯ ลง จาก 10 สตางค์ต่อลิตร เหลือ 0.005 บาทต่อลิตร​ เพื่อเป็นอีกแนวทางในการช่วยลดราคาน้ำมันให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยให้มีผลในปี 2565 ก่อนที่ในปี 2566​ กลับมาเก็บอยู่ที่ 0.05 บาทต่อลิตร

ส่วนปี 2567 กพช. ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ จะต้องกลับมาพิจารณา​ว่า อัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ควรจะเป็นเท่าไหร่ โดยในอดีตอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุน​ อยู่ในช่วงประมาณ 0.07-0.25 บาทต่อลิตร ที่ทำให้กองทุนฯมีรายได้เกือบ 10,000 ล้านบาทต่อปี

สำหรับความสำคัญของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานนั้น จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 ภายใต้พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียน โดยเป็นเงินให้เปล่าสำหรับโครงการหลายรูปแบบ เช่น โครงการศึกษา วิจัยและพัฒนา โครงการอนุรักษ์พลังงานของอาคาร โรงงาน โครงการพลังงานหมุนเวียน โครงการพัฒนาบุคคลากร โครงการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
ดังนั้นในส่วนของรายจ่าย จะเกิดจากการเปิดให้หน่วยงานต่างๆ เสนอโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงาน เข้ามาขอใช้เงินกองทุนฯ ได้ในแต่ละปี

แม้ในอดีตจะไม่มีการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินที่ชัดเจน แต่ปัจจุบันมีการกำหนดกรอบการใช้เงินและตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้เงินให้เข้มงวดขึ้น

โดยปัจจุบันได้เปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อขอใช้เงินกองทุนฯ ประจำปี 2566 ไปแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการ ทั้งนี้มีการกำหนดกรอบวงเงินประจำปี 2565-2567 ไว้ไม่เกิน 12,000 ล้านบาท (สำหรับโครงการเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทน) โดยแบ่งเป็นการใช้เงินได้ 4,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น

อย่างไรก็ตามในปี 2566 นี้ ได้ประกาศลดเงินสนับสนุนเหลือเพียง 2,000 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลืออุดหนุนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชนที่ไม่มุ่งแสวงหากำไร ให้ได้รับการจัดสรรเงินดังกล่าวสำหรับนำไปใช้ให้เกิดการประหยัด การผลิตและการใช้พลังงานทดแทน รวมถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561-2580 รวมถึงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580
โดยวงเงิน 2,000 ล้านบาทดังกล่าว แบ่งเป็น 2 แผนงาน ได้แก่ 1. แผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน วงเงินรวม 1,850 ล้านบาท และ 2. แผนงานบริหารจัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน(ส.กทอ.) วงเงิน 150 ล้านบาท

ทั้งนี้แผนงานอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน วงเงินรวม 1,850 ล้านบาท ได้แบ่งกลุ่มงานที่จะได้รับการสนับสนุน ดังนี้ 1). กลุ่มงานตามกฎหมาย 70 ล้านบาท 2).กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน 100 ล้านบาท 3).กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ 200 ล้านบาท 4). กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร 35 ล้านบาท 5).กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร 35 ล้านบาท 6). กลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมขนาดเล็ก(SMEs) อาคาร บ้านอาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ และพื้นที่พิเศษ 650 ล้านบาท และ7). กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก 760 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามการให้เงินสนับสนุนดังกล่าวถือว่าลดต่ำที่สุดนับจากปี 2564 ที่ให้เงินสนับสนุนถึง 6,500 ล้านบาท ต่อมาในปี 2565 เหลือ 3,850 ล้านบาท และในปี 2566 เหลือ 2,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงตามรายรับที่เก็บได้น้อยลงนั่นเอง

สำหรับการบริหารงานของสำนักงานกองทุนฯ ก็ยังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทีมงาน โดยเพิ่งแต่งตั้งผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนฯ คนใหม่คือ นายรัฐฉัตร ศิริพานิช ไปเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566 และก็เพิ่งตั้งทีมบริหารงานขึ้นมาใหม่เมื่อเดือน ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา

ดังนั้นการบริหารงานกองทุนฯ ในปี 2566 นี้ จะอยู่ภายใต้ทีมงานใหม่ทั้งหมด ทั้งผู้จัดการกองทุนฯ และทีมงานบริหารชุดใหม่ รวมไปถึงคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ เป็นประธานกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยจากนี้ต้องติดตามต่อไปว่าจะกำหนดทิศทางการใช้เงินกองทุนฯ และการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ อย่างไร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น

Advertisment