ในยามที่ ประชาชนผู้ใช้พลังงานต่างได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานแพงทั้งน้ำมันและค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นทุกงวด 4 เดือนตลอดทั้งปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปีนี้ แต่ละพรรคการเมืองจึงต่างหยิบเอานโยบายด้านพลังงานมาชูเป็นหนึ่งในประเด็นหาเสียง เพื่อหวังเรียกคะแนนนิยมจากประชาชน ในวันเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงในเดือน พฤษภาคมนี้
ถ้าผู้อ่านขับรถไปตามท้องถนนในกรุงเทพและปริมณฑล ก็จะเห็นป้ายหาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง ที่ชูนโยบายปรับลดราคาพลังงานที่คิดว่าน่าจะโดนใจประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ส่วนจะทำได้แบบไหน อย่างไรนั้น ค่อยมาว่ากัน
พรรคเพื่อไทย ซึ่งหวังชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์เที่ยวนี้ เจ้าของสโลแกน ” คิดใหญ่ ทำเป็น” เขียนข้อความในแผ่นป้ายหาเสียง พร้อมรูปของ แพทองธาร ชินวัตร ว่า ” เพื่อไทยเป็นรัฐบาล ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส ลดราคาทันที
ส่วนพรรคก้าวไกล เจ้าของสโลแกน ” กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม ” เขียนข้อความว่า ” หยุดเอื้อทุนใหญ่ ลดค่าไฟทันที 70 สตางค์ต่อหน่วย “
พรรคภูมิใจไทย สโลแกน” พูดแล้วทำ” ลงรูป อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ชูนโยบาย ฟรีโซล่าเซลล์ ลดค่าไฟฟ้าบ้านละ 450 บาทต่อเดือน ได้สิทธิซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าผ่อนเดือนละ 100 บาท 60 งวด
พรรคเสรีรวมไทย ติดป้าย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค ชูนโยบาย น้ำมันไฟฟ้าราคาถูกสำหรับประชาชน
พรรคชาติพัฒนากล้า ลงรูป อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ติดป้ายหาเสียงไว้ที่เสาไฟฟ้าหน้ากระทรวงพลังงาน เขียนข้อความ ” รื้อโครงสร้างพลังงาน น้ำมัน แก๊ส ไฟฟ้า ถูกลง “
พรรคไทยภักดี ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรค เขียนข้อความตัวโตว่า ค่าไฟครัวเรือน 2.50 บาท
ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังไม่เห็นป้ายหาเสียงที่ชูนโยบายลดราคาพลังงาน แต่ผู้ใช้พลังงานที่ติดตามข่าวย่อมทราบดีว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ นั้นพยายามที่จะใช้ทุกแนวทาง ทั้งลดภาษีสรรพสามิตดีเซล และกองทุนน้ำมัน ตรึงราคาดีเซล ไม่ให้เกินเพดาน 35 บาทต่อลิตร ตรึงราคาแก๊สหุงต้ม การขอเรี่ยไรเงินจากโรงกลั่นน้ำมัน ทั้งขอความอนุเคราะห์จากกลุ่ม ปตท. ให้ช่วยตรึงราคา และให้ กฟผ.ช่วยแบกรับภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชน
แต่ถึงกระนั้น กองทุนน้ำมันก็ยังมีฐานะติดลบสูงสุดที่ 1.3 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และ ทำให้ กฟผ. รับภาระจนมีปัญหาขาดสภาพคล่อง จน ครม.ต้องอนุมัติกรอบวงเงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน 1.5 แสนล้านบาท มาให้ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน
อัพเดท ตัวเลข ฐานะกองทุนน้ำมัน จนถึงวันที่ 12 มี.ค.2566 ตัวเลขลดลงเหลือติดลบ 99,662 ล้านบาท จากแนวโน้มราคาน้ำมันโลกที่ลดลงและกองทุนน้ำมันเริ่มเก็บเงินจากผู้ใช้ดีเซลคืนกองทุน หลังจากช่วงปีที่ผ่านมาต้องควักเงินจ่ายชดเชย ทำให้มีเงินไหลเข้ามากกว่าที่จ่ายออกไป
ถามว่านโยบายประชานิยมด้านพลังงานที่แต่ละพรรคการเมืองใช้หาเสียงกับประชาชนว่าจะลดราคาน้ำมัน แก๊ส และไฟฟ้า ให้ถูกลง หากได้เป็นรัฐบาล ว่าทำได้จริงหรือไม่ และจะทำได้อย่างไร ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนด้านพลังงาน ก็ต้องตอบว่า ทำได้จริง
โดยเรื่องน้ำมัน ก็ทำได้ด้วยการปรับลดภาษีสรรพสามิต และกองทุนน้ำมัน เข้ามาช่วยแบบเดียวกับที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ทำมาก่อนเป็นหลัก
ซึ่งปัจจุบัน ดีเซลยังเก็บภาษีสรรพสามิต อยู่ลิตรละ1.34 บาท และส่วนที่ส่งเข้ากองทุนน้ำมัน อีกลิตรละ 4.70 บาท ส่วนแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 เก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ลิตรละ 5.85 บาท และส่งเข้ากองทุนน้ำมันอีกลิตรละ 2 บาทต่อลิตร ( ข้อมูล ณ วันที่ 15 มี.ค.2566 ) อย่างไรก็ตาม การปรับลดภาษีสรรพสามิตลง ก็คือการทำให้รายได้ของรัฐลดลง ในขณะที่การลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ก็จะทำให้กองทุนมีฐานะที่ติดลบยาวนานขึ้นไปอีก
ส่วนเรื่องไฟฟ้า รัฐบาลใหม่อาจจะโชคดีที่แนวโน้มต้นทุนเชื้อเพลิงหลักคือ ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ในปีนี้ปรับลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รวมทั้งการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ(G1/61)ในอ่าวไทยที่มีต้นทุนถูกกว่า LNG นำเข้า เพิ่มปริมาณขึ้นจากระดับ200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มเป็น 400-600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงสิ้นปี รวมถึงการเปลี่ยนสัญญาของแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/61) ในส่วนของแปลง B16และ B17 จากระบบสัมปทานเดิม เป็นสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา จะทำให้ราคาก๊าซ ที่ผลิตได้ประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ถูกลงกว่าเดิม โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คำนวณว่าตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค ไปถึงสิ้นปี2566 ต้นทุนราคาก๊าซจะลดลงประมาณ 20,000 ล้านบาท
ทั้งนี้หากรัฐบาลใหม่ จะช่วยลดค่าไฟฟ้า นับตั้งแต่งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 จะทำได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีนโยบายยืดระยะเวลาคืนภาระต้นทุนที่ กฟผ.ช่วยแบกไว้ให้ไปก่อนนานแค่ไหน
อย่างไรก็ตามหากได้รัฐบาลใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ ก็ต้องเร่งเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่คาดว่าจะมีปริมาณสำรองก๊าซจำนวนมาก ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพราะจะทำให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าถูกลงอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า นโยบายประชานิยมด้านพลังงาน อาจจะทำได้และเป็นประโยชน์ในระยะสั้นๆ เพราะไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ หากตรึงราคาเอาไว้เป็นเวลานานจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะตัวเลขการใช้ก็เพิ่มขึ้น ต้องใช้เงินมากขึ้นในการนำเข้า ย้อนไปดูกรณีการตรึงราคาดีเซลของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เป็นกรณีตัวอย่างได้ ว่ารัฐเสียทั้งรายได้จากภาษีสรรพสามิต กองทุนน้ำมันต้องไปกู้เงินมาชดเชย บวกดอกเบี้ย ตัวเลขการใช้ดีเซลเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 73 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น15.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ GDP โตแค่ 2.6 % ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันโต10.4 % แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นถึง78.1 %
–
ที่ทำนโยบายประชานิยมพลังงานมาทั้งหมดสุดท้าย ผู้ใช้พลังงานก็ต้องมาจ่ายคืนทั้งต้นทั้งดอกอยู่ดี