ผ่านเดือนมกราคม ปี 2566 มีความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามในวงการธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจที่มีมาร์จินต่ำ แต่มีผลกระทบต่อประชาชนสูง แม้นโยบายรัฐจะเน้นย้ำเสมอว่าเป็นตลาดการค้าขายเสรี น้ำมันไม่ใช่สินค้าควบคุม ผู้ค้าใครอยากจะตั้งราคาขายอย่างไรก็ย่อมได้ แต่เมื่อรัฐส่งสัญญาณขอความร่วมมือทีไร ผู้ค้าก็ต้องยอมพร้อมให้ความร่วมมือ ยกตัวอย่างกรณีที่เรี่ยไรเงินจากโรงกลั่นกลุ่ม ปตท.ร่วม 3 พันล้านบาทมาเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน หรือ การขอความร่วมมือ ให้ผู้ค้าคิดค่าการตลาดดีเซลที่ 1.40 บาทต่อลิตร แม้ผู้ค้าแบรนด์ต่างชาติบางรายจะไม่ให้ความร่วมมือแต่ทั้ง โออาร์และบางจาก นั้นพร้อมมาก
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ คือการได้ CEOหรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ คุณ ดิษทัต ปันยารชุน ที่จะมานำองค์กร โดยมีแม่บ้านอย่าง คุณสุชาติ ระมาศ นั่งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ หรือ President มาช่วยในการขับเคลื่อนนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ
เดิมตำแหน่ง CEO&President ของโออาร์ นั้นรวมอยู่ใน จิราพร ขาวสวัสดิ์ เพียงคนเดียว คราวนี้บอร์ดแบ่งครึ่งให้ทั้ง คุณดิสทัต และคุณสุชาติ มาช่วยกัน จะขับเคลื่อนโออาร์ได้ดีกว่าเดิมมั๊ย ก็ต้องรอดูที่ผลประกอบการ
คุณดิสทัต พูดในวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการกับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า พร้อมสานต่อ วิสัยทัศน์ “Empowering All toward Inclusive Growth” หรือ “เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน” ด้วยแนวคิด “RISE OR” คือ
Result : การมุ่งสร้างผลลัพธ์ที่เป็น รูปธรรม, Intelligence : การตัดสินใจที่ฉลาดบนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพ, Synergy : การผนึกกำลังของธุรกิจทั้งภายในและภายนอกกลุ่ม ปตท., Entrepreneurship : การทุ่มเทในบทบาทหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ)
ต้องตามดูฝีมือว่าจะแปลงแนวคิดที่เป็นนามธรรม ให้กลายเป็นรูปธรรมได้อย่างไรแค่ไหนในปีนี้ โดยโออาร์ตั้งงบลงทุนในแผน 5 ปี วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งในปี 2566 จะใช้ประมาณ 31,000 ล้านบาท เน้นไปในเรื่อง ธุรกิจLife style Mobility Global และ Innovation
หันมาดูบางจาก ที่บอร์ดอนุมัติเมื่อวันที่ 11ม.ค.2566 ให้ซื้อหุ้นจาก ExxonMobil Asia Holding จำนวน65.99 % ที่ถืออยู่ในเอสโซ่(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 6 หมื่นล้านบาท โดยจะได้ทั้งธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปั๊มน้ำมันของเอสโซ่มาไว้ในมือ ดีลนี้คาดว่าจะดำเนินการซื้อกิจการได้เสร็จอย่างเร็วในเดือน ส.ค. อย่างช้า ธ.ค.2566 นี้
ผลจากการซื้อกิจการครั้งนี้ บางจากจะกลายเป็นเจ้าของโรงกลั่นที่มีกำลังการกลั่นมากที่สุดในประเทศ ถึง 2.94 แสนบาร์เรลต่อวัน และมีจำนวนปั๊มน้ำมันเพิ่มเป็น 2,100 แห่งทั่วประเทศ
คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ซีอีโอ บางจาก บอกกับสื่อในวันแถลงข่าวการเข้าซื้อกิจการของเอสโซ่ครั้งนี้ ที่ใช้เวลาในการเจรจากันมา 1 ปี ว่าจะทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการของบางจากได้สะดวกขึ้น โดยดีลครั้งนี้จะทำให้เกิดsynergy ทางธุรกิจที่จะช่วยให้บางจากประหยัดต้นทุนลงประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาทต่อปี
ในขณะที่ฝั่งเอสโซ่ จะยังเหลือธุรกิจน้ำมันเครื่องและเคมีภัณฑ์ และเมื่อเร็วๆนี้ ทางเอสโซ่ ก็มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บริหารใหม่ โดยตั้ง คุณสุดา นิลวรสกุล ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และตั้งคุณราตรีมณี ภาษีผล เป็นกรรมการผู้จัดการ แทนคุณ อดิศักดิ์ แจ้งกมลกุลชัย ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการที่ยื่นหนังสือลาออก โดยตำแหน่งใหม่มีผลเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา
และความเคลื่อนไหวล่าสุดมาจากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน)หรือ SPRC เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 ที่มีมติอนุมัติกระบวนการควบรวมธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ของเชฟรอน (ไทย) เจ้าของแบรนด์ “คาลเท็กซ์”และ “เทครอน” โดยการทำธุรกรรมต่าง ๆ จะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2567 ใช้เงินประมาณ155.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
โรเบิร์ต โดบริค กรรมการและ CEO ของ SPRC ( เชฟรอน ถือหุ้น 60 % ) บอกว่า การเข้าลงทุนในธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมครั้งนี้ จะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของSPRC ในเชิงกลยุทธ์ด้านห่วงโซ่คุณค่าที่จะทำให้ SPRC สามารถให้บริการลูกค้าในประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น โดยจะเป็นการรวมสินทรัพย์ในทำเลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ได้แก่ คลังน้ำมันเชื้อเพลิง และสถานีบริการน้ำมันจำนวน 427 แห่งทั่วประเทศ
ปัจจุบัน โออาร์ยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดค้าปลีกน้ำมัน ในอันดับ 1 การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ของคู่แข่งทั้งบางจาก ที่มีโรงกลั่นเพิ่มขึ้น มาอีก 1 แห่งและ SPRC ที่มีโรงกลั่นขนาด 1.7 แสนบาร์เรลต่อวัน ที่ควบรวมกิจการปั๊มคาลเท็กซ์ ภายใต้เจ้าของคนเดียวกันคือ เชฟรอน นั้นจะทำให้การแข่งขันเข้มข้นขึ้นหรือไม่ กำไรธุรกิจ ดีขึ้นมากกว่าเดิมแค่ไหน ปี 2567 น่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น