เขียนเล่าข่าว EP 22 กกพ. ปรับขึ้นค่าไฟ ภาคครัวเรือนได้รัฐช่วย ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจ่ายแพงขึ้น

567
N1022
- Advertisment-

เป็นอันว่า 3 ทางเลือกที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)​ ให้เปิดรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 27 พ.ย.65 ที่ผ่านมา จะต้องมานั่งคำนวณตัวเลขกันใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)​ที่มีนายกรัฐมนตรี​เป็นประธาน เมื่อวันที่ 25 พ.ย.65 ซึ่งกลุ่มที่จะได้รับความช่วยเหลือค่าเอฟที คือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า ภาคครัวเรือน ส่วนภาคอุตสาหกรรม อาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น มาดูกันว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

โดย 3 ทางเลือกที่ กกพ.ตั้งโจทย์เอาไว้ ประกอบด้วย

กรณี​ที่ 1 ค่าเอฟทีปรับขึ้น 224.98 สตางค์ต่อหน่วย โดยมาจาก การประมาณการ​ต้นทุนที่จะต้องปรับขึ้น 158.31 สตางค์ต่อหน่วย บวกด้วยส่วนที่กฟผ.จ่ายชดเชยให้ไปก่อนบางส่วน 66.67 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้กฟผ.ได้รับเงินคืนครบทั้งหมดภายใน 1 ปี โดยยังเหลือภาระที่จะต้องทยอยคืน กฟผ. อีกประมาณ 81,505 ล้านบาท

- Advertisment -

กรณีนี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดจาก 4.72 บาทเป็น 6.03 บาทต่อหน่วย

ส่วนกรณีที่ 2 ปรับขึ้นค่าเอฟที จำนวน 191.64 สตางค์ต่อหน่วย โดยลดส่วนที่จะทยอยคืน กฟผ.เหลือ 33.33 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี โดยยังเหลือภาระที่จะต้องทยอยคืน กฟผ. อีกประมาณ 101,881 ล้านบาท

กรณีนี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.70 บาทต่อหน่วย

และกรณีที่ 3 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย โดยยังไม่มีการจ่ายเงินคืน กฟผ.ในงวดนี้ทำให้ กฟผ.ต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนไปก่อนจำนวน 122,257 ล้านบาท และค่าไฟฟ้า โดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.37 บาทต่อหน่วย

แถลงมติ กพช.วันที่ ​25 พ.ย. 65

มาดู มติ กพช. เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 65 ที่มีนโยบายช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเอฟที งวดเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ที่ให้มีการบริหารก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้า โดยจัดสรรก๊าซฯ จากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซฯ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยก่อน ในปริมาณที่ไม่เพิ่มภาระอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจุบัน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าเอฟที สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย และมอบหมายให้ กกพ. เร่งศึกษาการจัดทำอัตราค่าไฟฟ้ากลุ่มประเภทบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน

อธิบายความจากมติดังกล่าวก็คือ ภาคครัวเรือนจะได้ใช้ไฟฟ้าด้วยการคำนวณต้นทุนเชื้อเพลิงจากก๊าซอ่าวไทยเท่านั้น โดยก๊าซอ่าวไทยนั้น มีราคาที่ต่ำกว่าก๊าซพม่าและก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG และจะต้องไม่ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มนี้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปจากค่าไฟฟ้างวดก่อนหน้านี้

ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้น

ดังนั้นในสถานการณ์ที่ราคา Spot LNG (JKM) ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปี 2564 ที่ 10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เป็น 30 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ในเดือน ต.ค. 65 และการประมาณการณ์แนวโน้มราคา LNG ในปี 2566 – 2567 ยังอยู่ที่ 25 – 33 เหรียญสหรัฐ​ต่อล้านบีทียู แสดงว่า จะต้องมีผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มอื่นเช่น ภาคอุตสาหกรรมมาแบกรับภาระส่วนนี้ไปแทนภาคครัวเรือน หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องให้ กฟผ.ช่วยแบกภาระเพิ่มขึ้นไปอีก จากที่แบกไว้แล้วประมาณกว่าแสนล้านบาท

มติอีกข้อของ กพช. คือขอความร่วมมือจาก ปตท. ให้พิจารณาจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่ ม.ค. – เม.ย. 66) มาช่วยสนับสนุนในรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยแบ่งการจัดสรร เป็น 3 ส่วนคือ 1.เป็นส่วนลดราคาค่าก๊าซฯ ให้กับ กฟผ. เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือน 2. เป็นส่วนลดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงแยกก๊าซฯ ในการคำนวณต้นทุนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อเป็นเชื้อเพลิง และ 3. ให้ ปตท. คิดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. IPP และ SPP ในระดับราคาเดียวกับที่ใช้การประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตั้งแต่เดือนที่ กพช. มีมติเป็นต้นไป

อธิบายความจากมติส่วนนี้ ก็คือการดึงเงินรายได้ประมาณ 6,000 ล้านบาทจาก ปตท. มาให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าและค่าก๊าซหุงต้ม แบบให้แล้วให้เลย ไม่มีทยอยคืนแบบที่ กฟผ.มาแบกค่าเอฟทีไว้ให้ก่อนถึงแม้จะหนักแต่ยังได้คืนพร้อมดอกเบี้ย

ส่วนมติ กพช. อีกเรื่องคือให้ดำเนินการตามมาตรการการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response) ในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดการใช้ก๊าซฯ โดยกำหนดให้ผลตอบแทนจากการดำเนินมาตรการ Demand Response (DR)​ เป็นส่วนหนึ่งของค่าเอฟที

หมายความว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใดเข้าร่วมโครงการและวางแผนการผลิตที่จะช่วยปรับลดการใช้ก๊าซลงได้จะได้รับแรงจูงใจ จากรัฐ ที่จะไปบวกรวมอยู่ในค่าเอฟที ซึ่งคนที่ไม่ได้ทำเรื่อง DR ก็จะต้องช่วยเฉลี่ยจ่าย

หนึ่งใน​ประเภท​กิจการ​ที่จะต้อง​จ่ายค่าไฟแพงขึ้น

หลังจบการรับฟังความเห็นค่าเอฟที วันที่ 27 พ.ย. 65 บอร์ด กกพ.จะต้องมีการประชุมกันอีกรอบโดยนำมติ กพช.วันที่ 25 พ.ย.65 มาพิจารณาประกอบ เพื่อเคาะตัวเลขใหม่ออกมาว่า ค่าไฟฟ้าเอฟทีงวดเดือน ม.ค-เม.ย.66 จะต้องปรับเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ซึ่งในการกำหนดค่าไฟฟ้าที่แยกประเภทออกไปเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น บ้านอยู่อาศัย กิจการขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร วิเคราะห์แนวโน้มกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัย​ที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือนน่าจะถูกคิดค่าเอฟทีในอัตราเดิมหรือถ้าจะปรับขึ้นก็ไม่มากเท่าตัวเลขเดิมที่ กกพ.คำนวณไว้ ส่วนที่จะต้องจ่ายแพงขึ้นก็คือกิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่เช่นห้างสรรพสินค้า และโรงงานอุตสาหกรรม ในขณะที่ กฟผ. ก็จะยังไม่ได้คืนภาระค่าเอฟทีที่แบกไว้ให้ก่อน และปตท.ต้องตัดรายได้ ประมาณ 6,000 ล้านบาทมาโปะเป็นส่วนลดทั้งค่าไฟและก๊าซหุงต้ม นั้นแล

Advertisment