- Advertisment-

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center (ENC) ได้มีโอกาสเข้าร่วมวงเสวนาแบบ round table จัดโดย บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่ออัพเดทการดำเนินงานของบริษัทฯ ภายใต้กลุ่ม “Hitachi Energy” ที่รีแบรนด์มาได้ครบ 1 ปี โดย ดร. วรวุฒิ วรุตตมพรสุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ ประเทศไทย จำกัด ได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์และแผนการดำเนินธุรกิจของ ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ ประเทศไทย ว่าจะสนับสนุนและเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่ความยั่งยืนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าที่บริษัทฯ พัฒนาขึ้น เพื่อช่วยผลักดันประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065

“มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะเข้าสู่ระบบและมีความสำคัญมากขึ้น ขณะเดียวกัน ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของความต้องการใช้พลังงานทั้งหมด หรือสูงขึ้นอีก 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% ซึ่งไฟฟ้าจะกลายเป็น backbone ของระบบพลังงาน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีระบบและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาจัดการเพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น รองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ขณะเดียวกันต้องช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน” ดร. วรวุฒิ กล่าว

ดร. วรวุฒิ วรุตตมพรสุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ ประเทศไทย จำกัด

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานของไทย ระบุว่าภาคการผลิตไฟฟ้านับเป็นกลุ่มที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศโลกมากที่สุดถึง 90 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 40% ของการปล่อยคาร์บอนฯ ทั้งหมด ภาครัฐจึงให้ความสำคัญกับการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคผลิตไฟฟ้าเป็นอันดับแรก เพื่อให้ไทยบรรลุตามข้อตกลงรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งไทยประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065

- Advertisment -

ดร. วรวุฒิ กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวของภาครัฐช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ซึ่งในภารกิจนี้ Hitachi Energy ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า จึงได้ร่วมมือกับลูกค้าและพันธมิตรพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีที่เป็นโซลูชันเพื่อเร่งสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในประเทศไทย โดยสำหรับในปีนี้  Hitachi Energy จะเน้นที่เทคโนโลยี “EconiQ” สำหรับพอร์ตโฟลิโอทางไฟฟ้าแรงสูง ที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีหลักการที่สำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนก๊าซที่ใช้เป็นฉนวนภายในอุปกรณ์ไฟฟ้า ให้เป็นก๊าซที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง จากก๊าซประเภทเดิมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงถึง 24,000 เทียบเท่าก๊าซคาร์บอน เปลี่ยนเป็นก๊าซที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเพียง 200 เทียบเท่าก๊าซคาร์บอน แต่ยังคงประสิทธิภาพของอุปกรณ์สูงอยู่เช่นเดิม โดยในเดือน ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เปิดตัวเซอร์กิตเบรกเกอร์ 420-kilovolt (KV) Circuit-Breaker ที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอทางไฟฟ้าแรงสูง EconiQ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถลดคาร์บอนฯ ตลอดวงจรได้เป็นอย่างดี

นอกจาก EconiQ แล้ว Hitachi Energy ยังมีโซลูชันหลักอื่นๆ ที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ได้แก่ Grid-eXpandTM ซึ่งเป็นชุดการเชื่อมต่อโครงข่ายแบบฉนวนอากาศและฉนวนก๊าซที่ผลิตแบบโมดูลแนวใหม่ ช่วยลดระยะเวลาการติดตั้ง จึงตอบโจทย์การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต และช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานที่ยั่งยืน ส่วน IdentiQ เป็นโซลูชันระบบดิจิทัลสำหรับงานไฟฟ้ากระแสตรงแรงดันสูง (HVDC) ทำให้สามารถจัดการระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องไปที่ไซต์งาน ช่วยเร่งขั้นตอนการดำเนินโครงการและลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด

นอกจากนั้น ยังมี Lumada Inspection Insights ซึ่งเป็นพอร์ตโฟลิโอโซลูชันดิจิทัลแบบครบวงจรเพื่อการตรวจสอบ การเฝ้าระวังและการใช้งานสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยยกระดับความปลอดภัยและลดความเสี่ยง ขณะที่ OceaniQ เป็นพอร์ตโฟลิโอด้านนวัตกรรมที่ให้ความสำคัญกับการรับมือความท้าทายของปัญหาการผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่งทะเล ช่วยเชื่อมต่อไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งเข้าสู่ระบบสายส่งอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและเพิ่มความปลอดภัย

ทั้งนี้ ดร. วรวุฒิกล่าวว่า ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ ประเทศไทย ยึดหลักความยั่งยืนภายใต้แผนกลยุทธ์ Sustainability 2030 เป็นหัวใจสำคัญ เพื่อมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 จึงได้ตั้งเป้าหมายแรกสำหรับประเทศไทย คือ การใช้พลังงานหมุนเวียน 100% โดยได้ทำการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาอาคารโรงงานของบริษัทฯ เพื่อช่วยลดอัตราการจัดซื้อไฟฟ้า เมื่อไม่นานมานี้ได้ลงนามสัญญาคาร์บอนเครดิตกับบริษัทชั้นนำเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะเดียวกันก็ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก และเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯ ยังได้รับใบรับรองจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในโครงการ CSR-DIW 2022 ในฐานะองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

“ในฐานะที่เรา (Hitachi Energy) เป็นผู้นำเทคโนโลยีด้านพลังงานเพื่อความยั่งยืน เราต้อง Walk the Talk (พูดจริงทำจริง)” ดร. วรวุฒิกล่าว

ในส่วนของกลยุทธ์ครึ่งปีหลังของปีนี้ และ ปีหน้า 2566 นั้น ดร. วรวุฒิ ย้ำว่าบริษัทฯ จะยังคงดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยดำเนินการให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตสูง ได้แก่ เมกะโปรเจ็คต่างๆ ศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และสถานีชาร์จไฟฟ้า โดยมีแผนที่จะร่วมมือกับภาครัฐ ผลักดันการพัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถบัสโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ E-Bus ซึ่ง Hitachi Energy มีเทคโนโลยีที่สนับสนุนการจัดการเพื่อดำเนินการดังกล่าว

“เราตั้งเป้าหมายยอดขายในประเทศไทย ปี 2565 ไว้ที่ราว 6,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเติบโตในอัตราสูงกว่าการเติบโตของตลาดโดยรวม”

ทั้งนี้ ความสำเร็จที่ผ่านมาของ ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ ประเทศไทย เช่น โครงการ Digital Substation กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โครงการ Micro Grid ที่เบตง และโครงการสนับสนุนพลังงานไฟฟ้าสำหรับ Data Center ขนาดใหญ่

บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด มีพนักงานรวม 450 คน ดูแลการตลาดทั้งในไทย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนบริษัทแม่ Hitachi Energy มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุบันมีฐานลูกค้าในกว่า 140 ประเทศทั่วโลก มีพนักงานรวมประมาณ 38,000 คน โดยมีผลประกอบการทางธุรกิจประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

Advertisment