- Advertisment-

นอกจากการทำธุรกิจสถานีบริการน้ำมันแล้ว เอสโซ่และเอ็กซอนโมบิลยังมีธุรกิจทางด้านพาณิชยกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอีกหลากหลายด้าน และหนึ่งในนั้นที่น่าสนใจที่จะได้รู้จักกันมากขึ้น ก็คือธุรกิจด้าน Marine Sales หรือ การขายน้ำมันสำหรับเรือเดินสมุทร ซึ่งมีเครือข่ายการดำเนินงานครอบคลุมไปทั่วโลก

ในโอกาสนี้ ทางผู้บริหารของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดย คุณวันชัย วิจักรชน ผู้จัดการฝ่ายขายธุรกิจพาณิชยกรรมน้ำมันเชื้อเพลิง และทีมงานสำหรับธุรกิจการเดินเรือในประเทศ โดย คุณอัครเดช ทรงธัมจิตติ ผู้จัดการธุรกิจภาคขนส่งทางเรือ ได้มาพูดคุยถึงธุรกิจทางด้านนี้

คุณวันชัย วิจักรชน ผู้จัดการฝ่ายขายธุรกิจพาณิชยกรรมน้ำมันเชื้อเพลิง

คุณวันชัยได้กล่าวถึงธุรกิจพาณิชยกรรมน้ำมันเชื้อเพลิงด้านการเดินเรือโดยรวมว่า หนึ่งในข้อกำหนดที่ท้าทายสำหรับเรือขนส่งทางทะเล ในภาคธุรกิจการเดินเรือในน่านน้ำทะเลสากลคือการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ซึ่งจะมีหน้าที่ออกกฎระเบียบต่างๆเพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษและสิ่งปฎิกูลของเรือเดินสมุทรให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติเดียวกัน โดยนโยบายในเรื่องของการกำหนดการปล่อยมลภาวะของเสียจากเรือ (Emission Control) ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 หรือเรียกอีกอย่างว่า มาตรการ IMO2020 เป็นการกำหนดให้เรือทุกลำในโลกนี้จะต้องควบคุมการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ไม่เกิน 0.5%  จากในอดีตที่ 3.5% ทำให้เรือขนส่งต่างๆจะต้องจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตอบสนองกับข้อกำหนดดังกล่าว

- Advertisment -

“บริษัทเอสโซ่ และบริษัทในเครือเอ็กซอนโมบิล ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการจำหน่ายน้ำมันเตาชนิดพิเศษนี้ (Low Sulfur Fuel Oil) จึงได้มีการวางแผนและปรับปรุงกระบวนการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นในเครือบริษัททั่วโลก เพื่อรองรับนโยบาย IMO2020  โดยได้คิดค้นวิธีการกลั่นน้ำมันเตาชนิดพิเศษโดยใช้ชื่อทางการค้าเรียกว่า ———- ExxonMobil EMF.5TM (ExxonMobil Engineered Marine Fuel 0.5%) ซึ่งน้ำมันประเภทนี้เป็นสูตรเฉพาะที่มีกำมะถันต่ำเพียง 0.5% และได้ถูกออกแบบมาให้สามารถเข้ากันกับน้ำมันเตาประเภทเดียวกันของบริษัทที่ผลิตจากแหล่งอื่นทั่วโลกได้เป็นอย่างดี น้ำมันเตากลุ่มนี้ยังได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 8217:2017 และผ่านการประเมินผลห้องปฎิบัติการ (Laboratory) ของเอ็กซอนโมบิลว่าเหมาะสมกับการใช้กับเรือเดินสมุทร (Fit For Use) ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการเดินเรือว่าเครื่องยนต์หลักและเครื่องยนต์เสริมรวมทั้งหม้อน้ำในเรือจะทำงานอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเมื่อเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำนี้”  คุณวันชัยกล่าว

คุณอัครเดช ทรงธัมจิตติ ผู้จัดการธุรกิจภาคขนส่งทางเรือ

สำหรับธุรกิจการเดินเรือ ทางคุณวันชัยมีทีมงาน นำโดย คุณอัครเดช ทรงธัมจิตติ ผู้จัดการธุรกิจภาคขนส่งทางเรือ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับธุรกิจเดินเรือ (Marine Fuels) ที่ใช้ในภาคธุรกิจนี้จะเรียกว่า น้ำมันบังเกอร์ออยล์ (Bunker Oil) โดยปริมาณการใช้ทั่วโลกจะอยู่ที่ประมาณ 244 – 300 ล้านตันต่อปี (4,200 – 5,000 KBD) ตามข้อมูลจาก www.opec.org น้ำมันดังกล่าวจะใช้สำหรับการเติมเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่วิ่งขนส่งสินค้าในน่านน้ำต่างๆทั่วโลกโดยแบ่งประเภทของเรือหลักๆเป็น 4 ประเภทด้วยกัน อาทิเช่น เรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ (Container Vessel), เรือขนส่งประเภทสินค้าเทกอง (Bulk Vessel), เรือขนส่งสินค้าของเหลว (Tanker Vessel), และเรือขนส่งสินค้าทั่วไป (General Cargo Vessel)

เรือขนส่งต่างๆนี้จะเดินทางรับและส่งสินค้าตามท่าเรือต่างๆทั่วโลก โดยท่าเรือที่สำคัญ 5 อันดับแรกของโลก มีดังนี้ (1) ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งสามารถรองรับการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือได้ถึง 42.01 MTEU (Million Twenty Foot Equivalent Unit) โดยรัฐบาลจีนได้มีนโยบายให้ท่าเรือแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือระดับโลก  (2) ท่าเรือสิงค์โปร์ สามารถรองรับการขนส่งสินค้าได้ 36.6 MTEU และเป็นท่าเรือที่มีปริมาณการค้าน้ำมันใหญ่ที่สุดในโลก หรือประมาณ 50 ล้านตันต่อปี (860 KBD) (3) ท่าเรือเซินเจิ้น ประเทศจีน ที่ 27.74 MTEU (4) ท่าเรือหนิงโป-โจวซาน ประเทศจีน ที่ 26.35 MTEU (5) ท่าเรือกวางโจว ประเทศจีน ที่ 21.87 MTEU อันดับที่ 6-10 เป็นท่าเรือที่อยู่ในทวีปเอเชียทั้งสิ้น โดยในส่วนของท่าเรือแหลมฉบังของไทย ติดอันดับที่ 20 ที่ 8 MTEU มีปริมาณการใช้น้ำมันต่อปีประมาณ 1 ล้านตันต่อปี (20 KBD) โดยเป็นท่าเรือที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยเรา ในอนาคตอันใกล้นี้ท่าเรือแหลมฉบังมีโครงการขยายส่วนต่อในเฟสที่ 3 ซึ่งจะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึง 18 MTEU หรือขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ทั้งนี้เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจจากนโยบายภาครัฐในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor)

สำหรับธุรกิจการเดินเรือในประเทศ คุณอัครเดช กล่าวว่า “ทางเอสโซ่ (ประเทศไทย) เราได้ทำการส่งมอบน้ำมันเตา ExxonMobil EMF.5TM  นี้ให้แก่เรือสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ก่อนกำหนด IMO2020  ซึ่งเป็นความร่วมมือของทีมฝ่ายขายและโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ศรีราชา โดยสินค้าล็อตแรกได้ถูกส่งตรงถึงลูกค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ในวันที่ 5 ธ.ค. 2562 โดยพันธมิตรเรือขนส่งน้ำมันเตาของบริษัท ซึ่งทางบริษัทฯได้รับผลตอบรับที่ดีจากทางลูกค้าทุกราย ตลอดทั้งปี พ.ศ.2563 และจากการดำเนินการดังกล่าวทั้งในประเทศและระดับโลก บริษัทในเครือเอ็กซอนโมบิลได้ถูกจัดอันดับให้เป็นผู้จำหน่าย Bunker Oil ที่สำคัญติด 1 ใน 10 อันดับของโลก (www.market watch.com)”

ในการทำธุรกิจของเอสโซ่และเอ็กซอนโมบิลในประเทศไทย คุณวันชัยได้กล่าวสรุปว่า “ไม่ว่าอุปสรรคใดๆ จะเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะนานสักเพียงไร ผลกระทบต่อสงครามการค้า การปิดกั้นคลองสุเอซ ตู้คอนเทนเนอร์ขาดตลาด หรือราคาระดับน้ำมันดิบจะอยู่ที่เท่าใด บริษัทก็จะยังยืนหยัดทำธุรกิจด้วยหลักคิดที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กรที่จะ เติมเต็มพลังชีวิต ด้วยประสบการณ์พลังงานที่เหนือกว่า ด้วยเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก และเรามีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเศรษฐกิจไทย ให้ก้าวไกลไประดับโลก พร้อมทั้งช่วยสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นครับ”

Advertisment