อากาศร้อนจัดดันความต้องการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์​ แต่​ กฟผ.ยันระบบไฟฟ้าไทยยังมีความมั่นคง

546
- Advertisment-

ไทยไม่ต้องเวียนดับไฟฟ้าเหมือนเวียดนาม​ กฟผ.เผยปีนี้อากาศร้อนจัด​ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดทะลุเกิน 34,000 เมกะวัตต์ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ไทยยังมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพียงพอ โดยมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการดูแลระบบผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าให้มั่นคง มีเสถียรภาพ

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากกรณีประเทศเวียดนามเริ่มวางแผนเวียนดับไฟฟ้าทั่วประเทศ รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจในเมืองฮานอยและโฮจิมินห์ตั้งแต่วันนี้จนถึง 25 พฤษภาคม 2566 และบางพื้นที่อาจต้องดับไฟนานถึง 7 ชั่วโมง เพื่อรับมือกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาพอากาศร้อนจัด ท่ามกลางปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิง เนื่องจากราคาถ่านหินค่อนข้างสูง โรงไฟฟ้าหลายแห่งไม่เสนอความพร้อมในการผลิตเพื่อจ่ายไฟฟ้า รวมถึงการนำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน ประกอบกับเขื่อนขนาดใหญ่ 13 แห่งของเวียดนามได้เดินเครื่องไปในช่วงที่ก๊าซมีราคาแพง จึงมีปริมาณน้ำอยู่ในระดับวิกฤตทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้นั้น

- Advertisment -

สำหรับประเทศไทย กฟผ. ให้ความมั่นใจได้ว่า ระบบไฟฟ้าของไทยมั่นคง มีเสถียรภาพ สามารถผลิตและส่งไฟฟ้าให้กับประชาชนได้อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญวิกฤตราคาเชื้อเพลิงมาตั้งแต่ปี 2564 และปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ของปีนี้ทะลุถึง 34,826.5 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ไม่พบปัญหาไฟตกไฟดับแต่อย่างใด เนื่องจากการดูแลระบบผลิตและส่งไฟฟ้าให้มีความทันสมัยและพร้อมใช้งาน บริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนต่ำที่สุดในแต่ละช่วงเวลา และเลื่อนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน

นอกจากนี้ประเทศไทยยังพยายามลดความเสี่ยงการขาดแคลนเชื้อเพลิงด้วยการกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ เพิ่มถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะซึ่งเป็นถ่านหินภายในประเทศที่มีต้นทุนต่ำ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เชื้อเพลิงชีวมวล รวมถึงไฟฟ้าที่นำเข้าจาก สปป.ลาว ด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีดัชนีคุณภาพการบริการไฟฟ้าอยู่ในลำดับต้น ๆ ซึ่งดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนหลายเท่าตัว โดยในปี 2565 ค่าดัชนีจำนวนครั้งที่ไฟฟ้าดับ (SAIFI) มีค่าเท่ากับ 0.0904 ครั้งต่อจุดจ่ายไฟ และค่าดัชนีระยะเวลาไฟฟ้าดับ (SAIDI) มีค่าเท่ากับ 0.9041 นาทีต่อจุดจ่ายไฟ สะท้อนให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพและคุณภาพของระบบไฟฟ้า รวมถึงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของนักลงทุน สร้างโอกาสในการแข่งขันของประเทศในระดับนานาชาติ

Advertisment