อบก.จัดลงนามซื้อคาร์บอนเครดิตจาก8หน่วยงาน

2907
- Advertisment-

อบก.จัดลงนามซื้อก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) จาก 8 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน), บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน), โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ, บริษัท สแครทซ์ เฟิร์สท์ จำกัด (Wonderfruit), ธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  พร้อมเตรียมจัดทำ พ.ร.บ. ว่าด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปี 2563 นี้โดยจะมีการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผู้ที่ไม่สามารถลดก๊าซฯได้ตามเพดานกำหนด อาจใช้วิธีซื้อคาร์บอนเครดิตจากรายอื่นแทน เชื่อช่วยให้เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้น

นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หรือ อบก. เปิดเผยว่า  อบก.ได้จัดโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) โดยวันที่ 29 ต.ค. 2561 ได้มีการลงนามซื้อก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) จาก 8 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน), บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน), โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ, บริษัท สแครทซ์ เฟิร์สท์ จำกัด (Wonderfruit), ธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับให้แต่ละองค์กรต้องรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่รัฐบาลกำลังจัดทำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปี 2563 โดยจะมีการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผู้ที่ไม่สามารถลดก๊าซฯได้ตามเพดานกำหนด อาจใช้วิธีซื้อคาร์บอนเครดิตจากรายอื่นแทน ซึ่งจะก่อให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นวงกว้างมากขึ้น

- Advertisment -

โดยขณะนี้ การดำเนินงานยังถือเป็นภาคสมัครใจ สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเริ่มเข้ามาร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิตมากขึ้น ซึ่งการลงนามครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้เพิ่มขึ้น 2 แสนตันต่อปี จากเป้าหมายที่ต้องการให้ไทยลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี โดยในปี 2561 ได้รับรายงานการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยย้อนหลัง 2 ปี (พ.ศ.2559 ) สามารถลดได้จริงถึง 48 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี  ซึ่ง อบก.จะนำไปเผยแพร่ในที่ประชุมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ครั้งที่ 24 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศโปแลนด์ ระหว่างวันที่ 4-15 ธ.ค. 2561 นี้

สำหรับโครงการ T-VER เป็นโครงการภาคสมัครใจ ซึ่ง 8 หน่วยงานพร้อมจะเป็นผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ขายใหญ่คือ กลุ่มมิตรผล ส่วนข้อมูลเดือน ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER รวมทั้งสิ้น 2 แสนตัน จาก 5 ประเภทโครงการ ได้แก่ ชีวภาพ ชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ และการนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ ปัจจุบันมียอดการซื้อขายกว่า 6.2 ล้านบาท

นายกฤษฎา มนเฑียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล ผู้ขายคาร์บอนเครดิตรายใหญ่กล่าวว่า กลุ่มมิตรผลมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองรวม 489,217 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า   ซึ่งได้จากการลดการปล่อยคาร์บอนฯจากโรงไฟฟ้ามิตรผล ไบโอเพาเวอร์ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี และในอนาคตจะมีโครงการอื่นๆต่อไป โดย 3 ปีที่ดำเนินการขายคาร์บอนเครดิตได้ 2 แสนตันคาร์บอนฯต่อปี ซึ่งกลุ่มมิตรผลจะขยายการขายเพิ่มเป็น 1.5 แสนตันคาร์บอนฯต่อปี

สำหรับราคาซื้อขายเป็นราคากลางเปลี่ยนแปลงขึ้นลงคล้ายตลาดหุ้น ปัจจุบันราคาซื้อขายมีตั้งแต่ 10-200 บาทต่อตันคาร์บอนฯ ซึ่งอยู่กับปริมาณการซื้อ สำหรับผลการดำเนินโครงการ T-VER ของกลุ่มมิตรผลที่ผ่านมา มีผู้ซื้อคาร์บอนเครดิต 26 องค์กร ประกอบด้วยเอกชน 15 องค์กร ภาครัฐ 9 องค์กร และรัฐวิสาหกิจ 2 องค์กร มีการขายคาร์บอนเครดิตแล้ว 1.9 แสนตันคาร์บอนฯ หรือคิดเป็นประมาณ 90% ของตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยตามมาตรฐาน T-VER

“ในอนาคตอยากเห็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นวงกว้าง ซึ่งหมายรวมไปถึงการใช้แอพพลิเคชั่นในการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละคนหรือแต่ละองค์กร และนำมาซื้อขายระหว่างกันได้หรือบริจาคก็ได้ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ไทยเกิดการลดก๊าซเรือนกระจกได้สูงขึ้น และทำให้สิ่งแวดล้อมไทยดีขึ้นด้วย”

 นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กสิกรไทยเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะนอกจากจะชดเชยการปล่อยก๊าซฯด้วยซื้อคาร์บอนเครดิตแล้ว ยังสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและส่งเสริมธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนใช้เงินผ่าน K PLUS ที่ช่วยลดกระดาษ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลง 20% ในปี2563 เทียบกับฐานปี 2555 ปัจจุบันลดได้ 8% และจะพยายามต่อไปจนบรรลุเป้าหมาย

Advertisment