อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ลั่น ประมูลแหล่งก๊าซ เอราวัณ บงกช “รัฐถอยไม่ได้อีกแล้ว”

410
- Advertisment-

อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ลั่น  รัฐถอยไม่ได้อีกแล้ว กับการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียม เอราวัณ บงกช  ยืนยันวันเปิดรับข้อเสนอ 25ก.ย.นี้ และกำหนดวันที่ 25ธ.ค.2561 ประกาศผลผู้ชนะการประมูล  ในขณะที่ตัวแทนภาคอุตสาหกรรม และนักวิชาการด้านปิโตรเลียม ประกาศหนุนรัฐบาลเดินหน้าตามแผน เพื่อเรียกศรัทธานักลงทุน ระบุหากการผลิตก๊าซไม่ต่อเนื่องส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจ

นายวีระศักดิ์  พึ่งรัศมี  อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเปิดประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61(แหล่งเอราวัณ) และG2/61(แหล่งบงกช) ในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) ว่า ในวันที่ 25 ก.ย. 2561 นี้ จะเป็นวันที่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดให้เอกชนที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นในการเป็นโอเปอเรเตอร์  แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61(แหล่งเอราวัณ) และG2/61(แหล่งบงกช) ยื่นข้อเสนอด้านต่าง รวมทั้งหมด 4 ซองคือ 1.ซองข้อเสนอทางด้านเทคนิคที่จะมีรายละเอียดของแผนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด  2.ซองข้อเสนอให้รัฐเข้ามีส่วนร่วม( State Participation) ในสัดส่วนไม่เกิน25%  3.ซองคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูล ว่า ถูกต้องครบถ้วนที่เงื่อนไขที่รัฐกำหนดหรือไม่  และ 4 . ซองข้อเสนอด้านราคาและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากที่เอกชนยื่นข้อเสนอแผนต่างๆในวันที่ 25ก.ย. แล้ว ในวันที่ 26 ก.ย. ทางคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการปิโตรเลียม  จะมีการเปิดซองเทคนิค ซองข้อเสนอให้รัฐมีส่วนร่วม และซองคุณสมบัติ ของผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งหาก ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดทั้ง3 ซอง จึงจะนำเสนอคณะกรรมการปิโตรเลียม เพื่อพิจารณาเปิดซอง ที่4 คือข้อเสนอด้านราคาและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ  และนำเสนอผลการประมูลต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับต่อไป  โดยตามแผนที่กำหนดไว้ นั้น จะมีการประกาศรายชื่อเอกชนผู้ชนะการประมูล ในวันที่ 25ธ.ค. 2561  หลังจากนั้น ภาย ในเดือน ก.พ. 2562 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะมีการลงนามกับเอกชนผู้ชนะการประมูลภายใต้ระบบสัญญาPSC  ต่อไป

- Advertisment -

“อยากจะย้ำให้เข้าใจว่ารัฐไม่สามารถที่จะถอยได้อีกแล้ว  เพราะขั้นตอนต่างๆที่กำหนดไว้  หากถูกขยับเลื่อนออกไปได้อีก จะทำให้กระบวนการประมูลไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้   และหากต้องไปเริ่มต้นกระบวนการเปิดประมูลใหม่ก็เชื่อว่าจะใช้เวลาเตรียมการไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งจะทำให้กระบวนการผลิตก๊าซจากทั้งแหล่งเอราวัณ และบงกช ที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า70% ของปริมาณก๊าซในอ่าวไทย ไม่มีความต่อเนื่อง  ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าและระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ “  นายวีระศักดิ์ กล่าว

สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้คะแนนในข้อเสนอต่างๆ   นั้น กำหนดน้ำหนักในการพิจารณาข้อเสนอของผู้ประมูลที่สำคัญ คือ ข้อเสนอในการขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ให้กับรัฐในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ส่วนมีน้ำหนัก 65%, เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐไม่ต่ำกว่า 50% ของปริมาณการผลิตกำหนดน้ำหนักไว้ที่ 25%, เสนอผลตอบแทนพิเศษให้รัฐ เช่น Bonus การผลิต มีน้ำหนัก 5% และ ข้อเสนอในการจ้างคนไทยเข้าทำงานปีแรกไม่ต่ำกว่า 80% ของพนักงานทั้งหมด และเพิ่มขึ้นเป็น 90% ภายใน 5 ปี มีน้ำหนักของการให้คะแนน 5%

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC ) รายงานว่า ก่อนหน้านี้ ทั้งนักวิชาการด้านปิโตรเลียม และภาคอุตสาหกรรม ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ และบงกช ให้สำเร็จตามแผนที่วางไว้  โดยในงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดยชมรมรวมพลคนน้ำมัน  นั้น นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) แสดงความเห็นว่า ภาครัฐจึงต้องเรียกศรัทธานักลงทุนให้กลับมาโดยเร็ว และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันทำให้การประมูลครั้งนี้ผ่านพ้นไปให้ได้เพราะถือว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงทางพลังงานและระบบเศรษฐกิจของประเทศ  โดยหากการผลิตก๊าซฯจากแหล่งบงกชและเอราวัณไม่สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง จะทำให้ก๊าซฯหายไปจากทั้งสองแหล่งดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ธุรกิจทั้งระบบ อาทิ การผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิง ธุรกิจปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก จนถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) และแรงงานในระบบ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 4.5 แสนล้านบาทต่อปี และที่สำคัญจะทำให้โรงไฟฟ้าจะขาดก๊าซฯ มาผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (ปัจจุบันแหล่งเอราวัณผลิตก๊าซฯอยู่ 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งบงกชผลิตอยู่ 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวม 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็นสัดส่วน 50% ของการผลิตก๊าซฯทั้งประเทศ) ซึ่งจะกระทบการผลิตไฟฟ้าประมาณ 10 โรง ขนาดโรงละ 1,200 เมกะวัตต์  รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อนโยบายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ของรัฐบาลที่จะประสบปัญหาไม่มีไฟฟ้าใช้ด้วย

ส่วน ผศ.ดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า  หากรัฐไม่สามารถเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชได้ตามแผน จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปิโตรเลียมต้นน้ำและทำให้ไทยเสียศักยภาพด้านการแข่งขันในตลาดอาเซียน

อย่างไรก็ตามในฝั่งของกลุ่มที่คัดค้านการประมูลแหล่งปิโตรเลียม เอราวัณ และบงกช  ซึ่งรวมกลุ่มกันเป็นสภาพลังงานเพื่อประชาชน และเคลื่อนไหวเป็นแนวร่วมเดียวกันกับแกนนำพรรคพลังธรรมใหม่  นั้น ได้นัดหมายชุมนุมกันที่ หน้าทำเนียบรัฐบาล  ในวันที่ 24 ก.ย. 2561 เพื่อยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลเลื่อนการประมูลออกไปก่อน  และให้เปลี่ยนระบบการประมูลจากPSC มาเป็นระบบจ้างผลิต และเสนอให้มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ หรือNOC

Advertisment