องค์การเภสัชกรรมจับมือปตท.เดินหน้าสร้างโรงงานผลิตยาต้านมะเร็งหวังลดภาระนำเข้ายากว่า 50% เริ่มผลิตได้ปี 2570

632
- Advertisment-

องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จับมือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เดินหน้าสร้างโรงงานผลิตยาทุกรูปแบบที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง เป็นแห่งแรกของประเทศไทย หวังช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงมากขึ้น ลดภาระด้านค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีมูลค่าปีละกว่า 21,000 ล้านบาทลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยโรงงาน จะตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมวนารมย์ของ ปตท. หรือ PTT WEcoZi อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง คาดเริ่มผลิตได้ในปี 2570

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 เวลา 9.00 น. ณ อาคารสภาวิชาชีพ แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมพัฒนาโครงการโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ระหว่างองค์การเภสัชกรรม โดยนายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การ เภสัชกรรม และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุข และเป็นสาเหตุการตายสูงเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี คนไทยต้องเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกว่า 80,000 คนต่อปี และมีค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงมาก ความร่วมมือในการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งในครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีโรงงานที่สามารถผลิตยารักษาโรคมะเร็งที่ครอบคลุมการรักษาทุกกลุ่มโรคมะเร็งในปัจจุบัน และในทุกกลุ่มการผลิต ทั้งรูปแบบยาเคมีบำบัด ซึ่งเป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็งที่ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย และกลุ่มยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง เมื่อผลิตได้สำเร็จคาดว่าจะช่วยลดราคายาลงได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้การที่ประเทศไทยจะมีโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งขึ้นเอง จะเป็นการลดภาระ การนำเข้ายาจากต่างประเทศซึ่งปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด มูลค่ามากกว่า 21,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้เพิ่มการเข้าถึงยาได้มากขึ้น เป็นการพึ่งพาตนเอง และยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยาของไทยให้ทัดเทียมสากลสร้างความมั่นคงทางยา ถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เนื่องด้วยโรคมะเร็งเป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้ยาต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ทำให้การเข้าถึงยาที่มีคุณภาพทำได้ยากและมีราคาแพง ดังนั้น การส่งเสริมการวิจัยและการผลิตยาที่ทันสมัย จึงเป็นสิ่งจำเป็น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ในการมุ่งเน้นเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจ สีเขียว (BCG Economy) ซึ่งเป็น New S-Curve ของประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Comprehensive Medical Industry) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยให้เป็นศูนย์กลางทางด้านสุขภาพและวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น (Life Science) ซึ่งเป็นยอดปิรามิดสูงสุดในอุตสาหกรรมชีวภาพ

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม เป็นองค์กรหลักด้านยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ ได้ดำเนินโครงการพัฒนายารักษาโรคมะเร็ง โดยดำเนินการวิจัย พัฒนา และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตยารักษาโรคมะเร็งชั้นนำของโลกพร้อมทั้งมีแผนก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยมุ่งเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ทั้งยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) และกลุ่มยารักษาแบบจำเพาะเจาะจง (Targeted Therapy) ประกอบด้วย ยาชนิดเม็ดประเภท Tyrosine Kinase Inhibitors (TKIs) ซึ่งเป็นยาชนิด small molecule สามารถแพร่เข้าเซลล์และจับกับเป้าหมายภายในเซลล์ได้โดยตรง และยาฉีดชีววัตถุคล้ายคลึงประเภท Monoclonal antibodies (Biosimilar) ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ได้ แต่จะไปจับเป้าหมายที่อยู่ภายนอกเซลล์หรือบนผิวเซลล์

ด้วยโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ต้องมีมาตรฐานคุณภาพการผลิตที่เป็นสากล มีมาตรฐานความปลอดภัย และต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง อภ. กับ ปตท. จึงได้ร่วมกันดำเนินการศึกษาและออกแบบโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งแห่งนี้ขึ้น

นอกจากนี้ โรงงานแห่งนี้ยังสามารถรองรับและต่อยอดงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม ถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านยาและพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นอีกด้วย

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอ ปตท.

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งนี้ เป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ของ ปตท. ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามพันธกิจ “Powering Thailand’s Transformation” ที่มุ่งเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่ทุกภาคส่วน มุ่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน ของประเทศ พร้อมพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์ต่อประเทศในการช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีจำนวนมากในปัจจุบัน อีกทั้ง ยังช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ และลดการพึ่งพิงการนำเข้ายารักษาโรคจากต่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ ปตท. จะใช้ศักยภาพและความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ตลอดจนความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการโครงการ เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงงานให้สามารถแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงการร่วมมือกับ
องค์การเภสัชกรรมในการนำองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดที่ทั้งสององค์กรมี มาใช้เพื่อให้โรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งของไทยแห่งนี้มีการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ และช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้ คนไทยได้ใช้ยาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ในราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ถือเป็นตัวอย่างความร่วมมือ ของรัฐวิสาหกิจไทย ที่ร่วมกันเดินหน้าเพื่อพัฒนาประเทศไทย ตามแนวทาง “Restart Thailand”

โรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งแห่งนี้ จะตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมวนารมย์ของ ปตท. หรือ PTT WEcoZi อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งขั้นตอนต่อไปในการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง จะเป็น
ขั้นละเอียด (Detailed Feasibility Study) คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 14 เดือนจึงแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะทำการสรุปผลการศึกษาและประเมินแนวทางการขับเคลื่อนโครงการนี้ต่อไป โดยมีแผนที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวในปี 2565 เพื่อให้สามารถทำการวิจัยพัฒนาและผลิตยารักษาโรคมะเร็งเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2570

โครงการพัฒนายารักษาโรคมะเร็งนี้ ยังตอบสนองนโยบายของประเทศในทุกภาคส่วนทั้งในด้านยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียง” ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยการพัฒนาและเพิ่มสัดส่วนอุตสาหกรรมทางการแพทย์และชีวภาพที่มีมูลค่าสูง เพื่อลดต้นทุนการรักษาพยาบาลและยกระดับการให้บริการ ทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพในระดับสากล และปฏิรูปประเทศไทยด้านสาธารณสุข

Advertisment