หวังกระทรวงการคลังยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มซื้อขายคาร์บอนเครดิตในแพลตฟอร์ม FTIX

278
- Advertisment-

สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ FTI CCI หวังรัฐยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มซื้อขายคาร์บอนเครดิตในแพลตฟอร์ม FTIX เช่นเดียวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจมุ่งลดการปล่อยคาร์บอนมากขึ้นตอบโจทย์เป้าหมายประเทศที่ประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอน ( Carbon Neutrality )ภายในปี 2050

นายนที สิทธิประศาสตร์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  หรือ FTI CCI เปิดเผยถึง การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ใน แพลตฟอร์ม FTIX​  ที่ดูแลโดย FTI CCI  ว่า  ยังมีประเด็นที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตไม่คล่องตัว คือการที่ผู้ซื้อและผู้ขายต้องมีการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มโดยต้องจัดส่งใบกำกับภาษีในทุกครั้งที่มีการซื้อขาย ในขณะที่ การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ทางกระทรวงการคลังไม่มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยพิจารณายกเว้นให้นับตั้งแต่ที่มีการเปิดให้มีการซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์  ซึ่งทางสถาบันกำลังมีการยื่นเรื่องร้องขอให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้รับการยกเว้นภาษีเช่นเดียวกัน  เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจมีแรงจูงใจในการปรับลดการปล่อยคาร์บอนและมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันมากขึ้น 

นอกจากนี้สถาบันยังขอให้กรมสรรพากรพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับฝั่งผู้ขายคาร์บอนเครดิตจากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากการขาย 3 รอบภาษีต่อเนื่อง  ขยายเป็น 5 ปี โดยไม่ต้องนับต่อเนื่อง โดยอาจจะเป็นปีเว้นปีก็ได้  ในขณะที่ฝั่งของผู้ซื้อที่ยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ รัฐควรจะพิจารณาให้ได้รับสิทธิการนำรายจ่ายมาลดหย่อนภาษีในลักษณะเดียวกับการทำบุญบริจาค  ให้กับวัดหรือโรงเรียน เพื่อกระตุ้นการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลาย ด้วย

- Advertisment -

นายนที กล่าวว่า แพลตฟอร์ม FTIX ซึ่งเป็นเหมือน market place ยังมีสินค้าตัวที่สองที่อยู่ระหว่างรอนโยบายรัฐเปิดเสรีการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ( Renewable​ Electric​ity)​ที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถที่จะซื้อขายไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์ม FTIX ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านหน่วยงานการไฟฟ้า โดยที่การไฟฟ้าจะมีรายได้ในรูปแบบค่าผ่านสายส่ง เช่นเดียวกับท่อส่งก๊าซที่มีการจ่ายค่าผ่านท่อให้กับ ปตท. ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่โดนแรงกดดันจากมาตรการCBAM (Carbon Border Adjustment) หรือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญภายใต้ Fit For 55 ที่สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้ภายใต้นโยบาย the European Green deal สำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ที่ต้องการสินค้าที่ผลิตด้วยพลังงานสะอาด จะเป็น RE50 RE 80 หรือ RE100 จะได้มีทางเลือก และอีกสินค้าที่จะซื้อขายในแพลตฟอร์มที่กำลังเจรจาเชื่อมต่อกันคือ ใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน​(I-​REC)

นายนที กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากการดูแลแพลตฟอร์ม FTIX แล้ว ทาง FTI CCI ยังมีภารกิจในการเป็นผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจ (Validation and Verification Body: VVB) สำหรับ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) และ  Premium T- VER ด้วย โดยการเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร จะมีค่าบริการที่ต่ำกว่าราคาตลาด เป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการมีทางเลือก รวมทั้งภารกิจในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับธุรกิจทั่วๆไปโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กมาก หรือ ไมโครเอสเอ็มอี ว่าเขาควรจะปรับตัวและเริ่มต้นอย่างไร เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากทิศทางการดำเนินธุรกิจของโลกในอนาคตที่มุ่งสู่อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ 

Advertisment