“สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนที่ 14 ถือฤกษ์ 06.00 น. วันที่ 13 ส.ค. 2563 ในการเข้าทำงานครั้งแรก ท่ามกลางข้อเรียกร้องด้านพลังงานจากหลายฝ่ายทั้ง เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ,สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ให้รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ พิจารณาดำเนินการ อาทิ เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน,การปรับแผนAEDP ใหม่เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น และการแก้ปัญหาสำรองไฟฟ้าล้นระบบโดยลดปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า ในวันที่ 13 ส.ค. 2563 เวลา 06.00 น. นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนที่ 14 มีกำหนดการเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ที่กระทรวงพลังงานเป็นวันแรก โดยถือฤกษ์ 06.00 น. จะเข้าสักการะพระพรหมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงพลังงาน พร้อมกับคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานก่อนที่จะเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในวันเดียวกัน
ทั้งนี้ในช่วง 2 สัปดาห์ที่กระทรวงพลังงานว่างเว้นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีการแต่งตั้งให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รักษาการแทนนั้น มีกลุ่มองค์กรต่างๆ เคลื่อนไหวยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้นายสุพัฒนพงษ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ช่วยพิจารณาดำเนินการในหลายประเด็น ซึ่งทีมศูนย์ข่าวพลังงานได้รวบรวมเฉพาะที่น่าสนใจมาเสนอดังต่อไปนี้
1.ข้อเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ให้ต่อเนื่องจากที่รัฐมนตรีพลังงานคนก่อนคือนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ได้ดำเนินการค้างเอาไว้ ประกอบด้วยกลุ่มตัวแทนจากวิสาหกิจชุมชน 10 แห่ง จาก ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่นำโดยนายสุรเชษฐ์ ภูมิศรีแก้ว และ ม.ร.ว. วรากร วรวรรณ และตัวแทน”เครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ที่นำโดยนางสาววลัญช์รัช พรกิจจานนท์ ประธานเครือข่ายฯ โดยให้เหตุผลว่า เกษตรกรได้ลงทุนปรับพื้นที่เกือบ 2 แสนไร่ เพื่อเตรียมรองรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนดังกล่าวตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว เพราะเชื่อว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อชุมชน สร้างรายได้ทั้งจากการจำหน่ายวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าและรายได้จากการเป็นหุ้นส่วนในโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาการขายไฟฟ้าในระยะยาว
ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP2018 rev 1 ในปริมาณรับซื้อไฟฟ้าตลอดทั้งแผน (2563-2580) 1,933 เมกะวัตต์ (ภายในปี 2565 จะรับซื้อในปริมาณ 700 เมกะวัตต์แบ่งเป็นประเภทโครงการเร่งด่วน หรือ Quick win ปริมาณ 100 เมกะวัตต์ และประเภททั่วไป 600 เมกะวัตต์) ซึ่งยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
2.ข้อเสนอในสมุดปกขาวของกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ให้ปรับแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP)ใหม่ โดยเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเป็น 1,700 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ในแผนมีปริมาณรับซื้อ 900 เมกะวัตต์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นปริมาณที่สามารถกำจัดขยะที่เกิดขึ้น 27 ล้านตันต่อปีได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ยังเสนอให้รัฐปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับ Prosumer หรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่หันมาผลิตไฟฟ้าใช้เอง เช่น เปิดให้บุคคลที่สามเข้ามาใช้หรือเชื่อมระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Third Party Access) และอัตราค่าบริการใช้หรือเชื่อมระบบโครงข่ายไฟฟ้า(Wheeling Charge)ที่เหมาะสมเป็นธรรมรองรับโครงการโซลาร์เสรีภาคประชาชน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทที่เป็น Prosumer และส่งเสริมให้เอกชนซื้อขายไฟฟ้ากันเองได้ peer to peer ผ่าน Digital Energy Trading Platform
3.ข้อเสนอจากนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ที่ต้องการให้ปรับรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ใหม่ โดยลดสัดส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนประเภททั่วไป 600 เมกะวัตต์ภายในปี 2565 ลง ตามความเหมาะสมของสถานที่ ที่พร้อมดำเนินโครงการและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนอย่างแท้จริงเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศจนสูงเกินความจำเป็นมากขึ้น จากที่ปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองไฟฟ้ามากถึงเกือบ 40% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศอยู่แล้ว