” สุพัฒนพงษ์ “วางกรอบ 10 ปี ไทยได้ใช้ก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา หลัง คณะรัฐมนตรีไฟเขียวฟื้นคณะกรรมการฯ พัฒนาแหล่งพื้นที่ดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การเจรจาให้ได้ข้อตกลง
ความสำคัญของพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) คือศักยภาพในปริมาณสำรองปิโตรเลียม ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีข้อมูลเบื้องต้นว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้ประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่า 30 % และต่ออายุการผลิตก๊าซจากอ่าวไทย ออกไปได้อีกมากกว่า 10 ปี สอดคล้องกับการผลิตก๊าซจากแหล่งG1/61 (เอราวัณ)และG2/61(บงกช)ที่สัญญาซื้อขายก๊าซจะหมดอายุในปี 2575
ทั้งนี้การมีก๊าซที่ผลิตได้ในประเทศที่มีราคาถูกกว่าLNGนำเข้าจากต่างประเทศค่อนข้างมาก จะช่วยลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในระยะยาวได้
โดยก๊าซธรรมชาติถือเป็นพลังงานจากฟอสซิลที่สะอาดกว่าถ่านหินและน้ำมันเตาที่ยังจะเป็นเชื้อเพลิงหลักของโลกก่อนเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทดแทนอื่นๆ
ในงานสัมมนา New Energy : แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน หัวข้อ “นโยบายและทิศทางอนาคตพลังงานไทย” จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2565 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งได้รับเชิญมาปาฐกถาพิเศษ กล่าวบนเวทีในช่วงหนึ่งว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติฟื้นคณะกรรมการเฉพาะกิจในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) โดยคาดว่าจะเริ่มต้นการเจรจากันในเร็วๆ นี้ ผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศก่อน
และเชื่อว่ากระบวนการจากนี้ไปจะเร็วขึ้น เพราะทางประเทศไทยได้เตรียมทุกอย่างไว้หมดแล้ว ซึ่งถ้าหากตกลงกันได้คาดว่าจะนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ได้ภายใน 10 ปี ซึ่งสอดคล้องกับระยะเวลาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีแนวโน้มจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าหากเราทำได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี
“ส่วนนี้อยากให้มั่นใจ เราทำทุกวิถีทาง ทำทุกวัน แม้จะคืบหน้าที่ละน้อย ก็ยังต้องทำ เพราะเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา โดยทางกัมพูชาเองก็จะได้เชื้อเพลิง วันนี้ทุกคนพร้อมคุย อยากจะคุย ทั้งฝ่ายเรา และเขา เพราะเหตุการณ์วิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้น ทำให้ความจำเป็นในการพัฒนาทรัพยากรมีมากขึ้นจริงๆ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ที่ผ่านมากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เคยเสนอรูปแบบของการบริหารจัดการพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา ให้ได้ข้อยุติโดยเร็วคือการแบ่งส่วนพื้นที่ในตอนล่างมาพัฒนาร่วมกันในรูปแบบเดียวกับพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือเจดีเอ ที่มีการตั้งองค์กรพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ขึ้นมากำกับดูแลการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งจะไม่มีประเด็นเรื่องการแบ่งเขตพื้นที่ และทั้งสองประเทศจะร่วมรับผลประโยชน์จากปิโตรเลียมที่ผลิตได้คนละครึ่ง
สำหรับข้อมูล ผู้รับสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนไทย -กัมพูชา จากรัฐบาลไทยเมื่อปี 2511 นั้นแบ่งเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย
1.แปลง B5 และ B6 คือ Idemitsu Oil เป็นผู้ดำเนินงานหลัก (Operator) ถือสัดส่วน 50% และพันธมิตรมี Chevron E&P สัดส่วน 20% ,Chevron Blocks 5 and 6 สัดส่วน 10% ,Mitsui Oil Exploration Co.Ltd. สัดส่วน 20%
2.แปลง B7,B8 และ B9 คือ British Gas Asia เป็นผู้ดำเนินงานหลักถือสัดส่วน 50% และพันธมิตร คือ Chevron Overseas สัดส่วน 33.33% และ Petroleum Resources สัดส่วน 16.67%
3.แปลง B10 และ B11 คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 60% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 40%
4.แปลง B12 และ B13 (บางส่วน) คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 80% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 20%
และ 5.แปลง G9/43 และ B14 ผู้รับสิทธิ คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.
โดยสิทธิในการสำรวจและผลิตในพื้นที่ดังกล่าว ถูกหยุดนับเวลาเอาไว้ก่อน จนกว่าฝ่ายไทยและกัมพูชาจะสามารถเจรจากันให้ได้ข้อยุติ