สื่อมวลชนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น และสระบุรี ร่วมนำเสนอผลงานสร้างสรรค์คอนเทนต์ “พลังงานไฟฟ้าจากขยะ” ในโครงการ Waste Side Story ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ที่จังหวัดนครราชสีมา ชูวิธีแก้ปัญหาขยะมูลฝอยด้วยการคัดแยกตั้งแต่ชุมชน พร้อมหนุนแนวทางนำขยะมาผลิตกระแสไฟฟ้า
หลังจากที่สื่อมวลชนท้องถิ่น ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์/เคเบิลทีวี และสื่อออนไลน์ รวมทั้งสมาคมผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดและสื่อภาคพลเมือง ในพื้นที่เป้าหมายจำนวน 60 คน ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) โครงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ Waste Side Story ครั้งที่ 3 พร้อมได้รับการถ่ายทอดเทคนิค “การรายงานข่าวแบบเรื่องเล่า (Story Telling)” จากคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และวิทยากรด้านการมีส่วนร่วม ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ในครั้งนี้
แต่ละกลุ่มนำเสนอผลงานสร้างสรรค์คอนเทนต์ (Content) และคลิปวิดีโอ (VDO) ภายใต้โจทย์ “พลังงานไฟฟ้าจากขยะ” ออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ โดนใจ และใช้เทคนิคการเล่าเรื่องที่สะท้อนแนวทางการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยแบบฉบับชาวอีสานได้อย่างสนุกสนาน กระชับ เข้าใจง่าย และมีประสิทธิภาพ
โดยกลุ่มที่ชนะการประกวดผลงานสร้างสรรค์ในกิจกรรมครั้งนี้ คือเรื่อง “ขยะทอง” ใช้วิธีการเล่าเรื่องผ่านคลิปวิดีโอ เริ่มด้วยขยะที่ถูกนำไปทิ้งโดยไม่มีการคัดแยก แต่แท้จริงแล้วคือ “ทองคำ” เพราะเมื่อแยกออกมาเป็นประเภทต่าง ๆ สามารถนำไปขายสร้างรายได้ในครัวเรือนและชุมชน เช่น ขวดพลาสติกที่มีราคารับซื้อถึงกิโลกรัมละ 6.50 บาท กระป๋องเครื่องดื่มกิโลกรัมละประมาณ 4 บาท เพราะสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ส่วนขยะมูลฝอยหรือขยะจากครัวเรือนก็ส่งเข้าโรงงานกำจัดขยะเพื่อผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ ผลิตกระแสไฟฟ้า และส่งขายให้โรงงานปูนซิเมนต์ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศ
นอกจากนี้ คลิปวิดีโอยังพยายามสื่อสารให้เห็นว่าขยะไม่เพียงสร้างรายได้สู่ชุมชนแต่ยังสร้างโลกที่สดใสด้วยการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง
ทั้งนี้ ผลงานของกลุ่มผู้ชนะการประกวดจากกิจกรรม Workshop ยังได้เผยแพร่ลงในสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อสื่อสารให้สังคมมีส่วนร่วมตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะมูลฝอย พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะนำมาการผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า
สำหรับการตัดสินผลงานประกวดของสื่อมวลชนท้องถิ่นในกิจกรรม Workshop ดังกล่าว มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย รศ.ดร.สุระชัย ชูผกา อาจารย์คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง วัชรพงศ์ ทองรุ่ง บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center – ENC วิศรุต เคหะสุวรรณ เจ้าของเพจคิดด้วยภาพ และ สุมนา วิสารทสกุล วิทยากรกระบวนการด้านการมีส่วนร่วม ร่วมตัดสินผลงานพร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นในการผลิตคอนเทนต์อย่างสร้างสรรค์ให้กับทุกกลุ่ม
โครงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ที่จัดขึ้นเมื่อระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน 2563 ณ โรงแรมรายาแกรนด์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการโดยศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center – ENC ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97 (5) ปีงบประมาณ 2562 ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)