สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เผยแนวโน้มภาคครัวเรือนสนใจเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนมากขึ้น หลังค่าไฟฟ้าแพง สวนทางต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ถูกลงเหลือ 20 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ขณะสถาบันการเงินปล่อยกู้ติดตั้งแผงโซลาร์สะดวกขึ้น ระบุปัจจุบันประชาชนร่วมโครงการแล้ว 10-20 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายรับซื้อ 90 เมกะวัตต์ภายในปี 2579 ชี้หากเต็มโควตาก่อน ภาครัฐสามารถขออนุมัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพิ่มโควตาได้อีก
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อผลิตไฟฟ้า สำหรับโครงการโซลาร์ภาคประชาชน มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันมีการติดตั้งแล้วกว่า 10-20 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากยอดสะสมการติดตั้งนับตั้งแต่ปี 2562-2565 ที่มีเพียง 9 เมกะวัตต์ จากโควตารับซื้อรวม 260 เมกะวัตต์
ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยค่าไฟฟ้าแพงขึ้นแตะ 4 บาทต่อหน่วย ประกอบกับสถาบันการเงินปล่อยกู้ให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ต้นทุนค่าแผงโซลาร์เซลล์ยังถูกลงกว่าเดิมที่มีราคากว่า 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ เหลือเพียง 20 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ซึ่งตามบ้านเรือนใช้แผงโซลาร์เซลล์ไม่ถึง 1 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่ใช้เพียง 1-5 กิโลวัตต์เท่านั้น
สำหรับโควตารับซื้อไฟฟ้าภาคประชาชนนั้น ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2566 กำหนดปรับหลักเกณฑ์การรับชื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนใหม่ จากเดิมจะประกาศรับซื้อปีต่อปี เปลี่ยนเป็นการรับซื้อระยะยาว 10 ปี (พ.ศ. 2564-2573) รวม 90 เมกะวัตต์ ในอัตรารับซื้อไฟฟ้า 2.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นไปตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดภายใต้ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1
ดังนั้นหากประชาชนเข้าร่วมโครงการมากกว่าโควตาที่กำหนดไว้ 90 เมกะวัตต์ก่อนปี 2573 กระทรวงพลังงานสามารถขอ กพช.ขยายโควตาการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนเพิ่มได้อีกตามความเหมาะสมของสถานการณ์ในเวลานั้น
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า ที่ผ่านมา กกพ.ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนตามคำสั่ง กพช. มาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จรับซื้อไฟฟ้าได้ถึงเป้าหมายเลยสักครั้ง โดยในปี 2562 และ 2563 เปิดรับซื้อไฟฟ้าปีละ 100 เมกะวัตต์ รวม 200 เมกะวัตต์ แต่มีประชาชนเข้าร่วมโครงการและผลิตไฟฟ้าได้รวมเพียง 3-4 เมกะวัตต์เท่านั้น เนื่องจากราคารับซื้อไม่จูงใจมากนักเพียง 1.68 บาทต่อหน่วย
ต่อมาในปี 2564 เปิดรับซื้อลดลงเหลือ 50 เมกะวัตต์ และปรับราคารับซื้อเพิ่มขึ้นจาก 1.68 บาทต่อหน่วย เป็น 2.20 บาทต่อหน่วย แต่ก็ยังมีประชาชนเข้าร่วมโครงการและขายไฟฟ้าเพียง 3 เมกะวัตต์ จากนั้นในปี 2565 ภาครัฐปรับลดเป้าหมายการรับซื้อเหลือเพียง 10 เมกะวัตต์ ในราคา 2.20 บาทต่อหน่วยเช่นเดิม และมีประชาชนร่วมโครงการขายไฟฟ้ารวมเพียง 1.37 เมกะวัตต์
โดยรวมการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนมา 4 ครั้ง (พ.ศ. 2562-2565) ได้ไฟฟ้ารวมเกือบ 9 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายรับซื้อรวม 260 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามในปี 2565 นี้ กพช. จึงได้ปรับหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เป็นเป้าหมายระยะยาว 10 ปีแทน นับตั้งแต่ปี 2564-2573 รวมรับซื้อไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ ในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย