สำนักงาน กกพ.เผชิญ 4 โจทย์หิน กำกับกิจการพลังงานเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

671
- Advertisment-

เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ระบุ ทิศทางการกำกับดูแลพลังงานในช่วง การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Energy Transition) จะยากขึ้น เพราะต้องเผชิญกับโจทย์ความท้าทาย 4 ด้าน คือ 1. สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน ที่เพิ่มขึ้นทั้งไฮโดรเจน และพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก รวมไปถึงเทคโนโลยีระบบกักเก็บคาร์บอนในประเทศ 2. การบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดรวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้มากที่สุด 3. การส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพและความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ และ 4. การเพิ่มการแข่งขันในภาคพลังงานโดยมุ่งให้ผลประโยชน์เกิดกับผู้ใช้ไฟฟ้า ในขณะที่ต้องกำกับดูแลให้เกิด ความมั่นคงและความมีเสถียรภาพด้านพลังงานที่สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า ความท้าทายในการกำกับดูแลกิจการพลังงานในระยะต่อไป ซึ่งเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Energy Transition) ต้องเผชิญกับความท้าทายต่องานกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ และการพัฒนาภาคพลังงานให้เกิดความยั่งยืน 4 ด้าน ดังนี้

1. การกำกับดูแลเพื่อรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ เช่น พลังงานจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน พลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก รวมไปถึงการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บคาร์บอนในประเทศ

- Advertisment -

2. การบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสามารถรองรับแนวโน้มพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้มากที่สุดในราคาที่เหมาะสม

3. การส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพและความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ โดยภาคพลังงานของไทยมีความได้เปรียบซึ่งสามารถดึงเอาศักยภาพและความได้เปรียบเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ ศักยภาพในเชิงที่ตั้งที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้และต่อเนื่องจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรภูมิประเทศที่มีพรมแดนเชื่อมติดกับ สปป.ลาว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดสามารถเชื่อมต่อและรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก สปป.ลาว ได้เป็นจำนวนมาก และการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และแหล่งอื่นๆ รวมทั้งการนำเข้าจากต่างประเทศให้มาเสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกันก็สามารถช่วยเสริมการให้บริการไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆ สถานการณ์รองรับความผันผวนด้านพลังงานและยังสามารถพัฒนาให้เป็นหลุมกักเก็บคาร์บอนได้ด้วย

4. การเพิ่มการแข่งขันในภาคพลังงานโดยมุ่งให้ผลประโยชน์เกิดกับผู้ใช้ไฟฟ้า ส่งเสริมผู้ใช้พลังงานและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงและใช้พลังงานสะอาดได้ในระดับราคาที่เหมาะสม

นายคมกฤช กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงก๊าซในระบบการผลิตไฟฟ้าหลักยังมีความจำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อเสริมความมั่นคงและรองรับความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนที่ไม่สามารถพึ่งพาได้ 100% ถึงแม้ว่าภาคนโยบายจะวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าของไทยอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ในมิติด้านสังคมจะเห็นว่า ประเทศไทยยังมีนโยบายใช้ค่าไฟฟ้าอัตราเดียวกันทุกพื้นที่เพื่อกระจายความเจริญ มีนโยบายให้ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มีนโยบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสภาวะวิกฤตพลังงาน และมีนโยบายไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะเพื่อความปลอดภัยของประชาชนโดยไม่คิดค่าไฟฟ้า ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่ใช้ไฟฟ้าเป็นกลไกสนับสนุนสังคมให้มีการใช้ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน

“การวางแผนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว (Energy Transition) จะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางเทคโนโลยีประกอบด้วย เช่น การประยุกต์ใช้ไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) การพัฒนาของระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอื่นๆ ที่รวดเร็ว (Disruptive Technology) เป็นต้น  โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ทันเวลา จะสามารถช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ลดราคาพลังงาน และสามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม ตรงเวลา เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน เกิดการพัฒนาร่วมกันที่สมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าพลังงานสีเขียวสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าสีเขียวจากระบบได้ในราคาที่เป็นธรรมและไม่เอาเปรียบผู้ใช้ไฟฟ้ารายเดิม” นายคมกฤช กล่าวทิ้งท้าย

Advertisment