สหรัฐฯหนุนอาเซียนบรรลุเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าที่ร้อยละ 35 ในปี 2568

677
- Advertisment-

สหรัฐฯหนุนอาเซียนบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าที่ร้อยละ 35 และเป้าหมายการลดความเข้มการใช้พลังงานที่ร้อยละ 32 ในปี 2568

ในเวทีการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานกับ Ms. Jenifer Granholm, Secretary of Energy จาก US Department of Energy ซึ่งถือเป็นการประชุมร่วมกันครั้งแรก ทางสหรัฐ ได้นำเสนอแนวคิดความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน-สหรัฐอเมริกา (Concept Note on ASEAN-US Engagement on Energy) ซึ่งมีสาระสำคัญเพื่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานในระดับรัฐมนตรีผ่านการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานของประเทศสมาชิกกับสหรัฐอเมริกาเป็นประจำทุกปี เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานร่วมกัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งเทคโนโลยีด้านพลังงานที่จะช่วยเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยให้อาเซียนบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าที่ร้อยละ 35 และเป้าหมายการลดความเข้มการใช้พลังงานที่ร้อยละ 32 ในปี 2568

โดยนาย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทยกล่าวแสดงความเห็นว่าการร่วมมือกับสหรัฐฯจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงและยั่งยืนทางพลังงาน รวมทั้งจะช่วยกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของภูมิภาคและบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านพลังงานต่าง ๆ อาทิ ไฮโดรเจน ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบจัดเก็บพลังงาน และเทคโนโลยีดักจับ กักเก็บและใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) ต่อไป

- Advertisment -

นอกจากนี้ ในการหารือร่วมกันของที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทย ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ และแนวนโยบายด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทย ซึ่งประเทศไทยได้นำเสนอแนวนโยบายในการเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน นโยบาย 30@30 ในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าและการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกภาคส่วน รวมทั้งการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นแนวนโยบายภายใต้กรอบแผนพลังงานชาติ ปี2564 อีกทั้ง ยังได้นำเสนอแนวคิด เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model ต่อที่ประชุมเพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมการใช้และการเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรที่มีอยู่

ซึ่งสอดคล้องกับ นาย Francesco La Camera ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) ที่ได้นำเสนอทิศทางการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานโลก ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างเสถียรภาพให้ความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ Dr. Fatih Birol ผู้อำนวยการใหญ่ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ยังได้นำเสนอว่า ปีนี้เป็นปีที่ 10 ของการครบรอบความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียนและ IEA โดย ขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมมือกันอย่างจริงจังต่อไปในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในยุคการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดและการลงทุนด้านพลังงานที่คำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization)

ในส่วนของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนบวกสาม ที่ประชุมได้เน้นย้ำความร่วมมือด้านความมั่นคงทางพลังงาน การลงทุนด้านพลังงานที่คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน และการเน้นการหารือร่วมกันในเวทีระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้นในภูมิภาค

ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานและการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 39 (The 39th ASEAN Ministers on Energy and Associated Meetings: The 39th AMEM) ในรูปแบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) โดยมีประเทศบรูไนดารุสซาลาม เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และมีประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศคู่เจรจาอีก 8 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และ อินเดีย และองค์กรด้านพลังงานระหว่างประเทศ ได้แก่ ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และ ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) เข้าร่วม ในระหว่างวันที่ 13-16 กันยายน 2564

สำหรับสาระสำคัญของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานทั้ง 10 ประเทศนั้น ที่ประชุม ได้ร่วมกันประกาศปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวันด้านความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Bandar Seri Begawan Joint Declaration on Energy Security and Energy Transition) คือ การร่วมกันพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน ภายใต้การส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการปรับตัวและสามารถฟื้นตัว พร้อมที่จะรองรับต่อสภาวะที่เปลี่ยนแปลงหรือสภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานให้มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ยังได้รับทราบความก้าวหน้าของโครงการและกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงาน ระยะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย 7 สาขาความร่วมมือ และ
1 เครือข่ายความร่วมมือ ได้แก่ 1) ด้านไฟฟ้า จะร่วมกันเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความทันสมัยของระบบสายส่ง และส่งเสริมการนำพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

2) ด้านก๊าซธรรมชาติ จะมีการพัฒนาตลาดก๊าซร่วมกันในอาเซียนและปรับปรุงความพร้อมทางการค้าและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อและการเข้าถึงก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในพื้นที่ห่างไกล

3) ด้านเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ส่งเสริมและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานถ่านหินสะอาด และการพัฒนา CCUS

4) ด้านประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน ส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานเดียวกันของอุปกรณ์ไฟฟ้าในภูมิภาค และส่งเสริมประสิทธิภาพ
การใช้พลังงานในอาคาร ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม

5) ด้านพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาเส้นทางการไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

6) ด้านนโยบายและแผนพลังงานภูมิภาค พัฒนาแนวทางความร่วมมือด้านนโยบายและแผนด้านพลังงานของอาเซียนเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่าน
ทางพลังงาน

7) ด้านพลังงานนิวเคลียร์ เสริมสร้างการพัฒนาบุคลากรของอาเซียนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านพลังงานนิวเคลียร์ รวมถึง ยังได้มีการหารือร่วมกันในด้านเครือข่ายการกำกับกิจการพลังงานอาเซียน เพื่อส่งเสริมบทบาทด้านการพัฒนาแนวทางและกฎระเบียบ เพื่อสนับสนุนการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีและตลาดปิโตรเลียมในภูมิภาคต่อไป

Advertisment